โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 11 ส่วนของทรัพย์สินกองมรดก หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนานำทรัพย์สินกองมรดกออกขายหรือออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งปันให้โจทก์ 1 ใน 11 ส่วน
จำเลยที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ศาลนำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่ทายาท
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายสุจิตร ให้แก่โจทก์ 1 ใน 11 ส่วน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนานำทรัพย์สินกองมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ในฐานะผู้จัดการมรดกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ 30,000 บาท
จำเลยที่ 4 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า นายสุจิตร เจ้ามรดก ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2527 โดยมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 11 คน และมีทรัพย์มรดกตามฟ้อง ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ในเบื้องต้นก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4 ตามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากนายสุจิตรเสียชีวิต ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียต่างยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกจนในที่สุดศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดก มีหน้าที่ร่วมกันบริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิทุกชนิด ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตาย โจทก์และทายาทบางส่วนสามารถตกลงกันได้ แต่ยังมีทายาทบางส่วนยังไม่ยอมตามที่โจทก์และทายาทอื่นร้องขอให้แบ่งปัน อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์และทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินแบ่งปันจากกองมรดก ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ในการฟ้องจำเลยทั้งหกในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุจิตรผู้ตาย ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกา อันถึงที่สุดแล้วปรากฏว่าศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 กับนางทัศนาวรรณ และนางสุวรรณี เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 โดยระบุในคำฟ้องว่า เด็กชาย (นาย) จิตติวัฒน์ โดยนางทัศนาวรรณ ผู้แทนโดยชอบธรรม จึงเป็นการฟ้องเด็กชายหรือนายจิตติวัฒน์เป็นจำเลย โดยนายจิตติวัฒน์มิได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล และไม่มีสิทธิหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้มีการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ อันเป็นการฟ้องผิดตัวบุคคล ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เด็กหญิง (นางสาว) ดวงดี โดยนางสุวรรณี ผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการฟ้องเด็กหญิงหรือนางสาวดวงดีเป็นจำเลย โดยนางสาวดวงดีมิได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่มีสิทธิหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้มีการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ อันเป็นการฟ้องผิดตัวบุคคลและเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับคำให้การของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 รวมทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายสุจิตรให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนานำทรัพย์สินกองมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งปันให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ กรณีเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบมาตรา 243 และมาตรา 252 และโดยที่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4 ในข้ออื่นต่อไปเนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นำทรัพย์สินกองมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายสุจิตร ให้แก่โจทก์ 1 ใน 11 ส่วน นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ก็เฉพาะกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้แบ่งทรัพย์สิน มิใช่เป็นการบังคับให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเป็นการไม่ถูกต้อง ทั้งการพิพากษาให้นำทรัพย์สินกองมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันก็ไม่ถูกต้องเพราะไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ในการแบ่งทรัพย์สินกองมรดกให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท และยกคำขอที่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์