คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันใดไม่ปรากฎ ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคมถึง ๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ เวลากลางวัน นายสงบจำเลยและนายสนานจำเลยต่างบังอาจตัดฟันไม้หวงห้ามคือ ไม้ตะเคียนสามพอนอันเป็นไม้ตะเคียนชนิดอื่น ๆ ๔ ท่อน ไม้กะบาก ๑ ท่อน เนื้อไม้ ๙.๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต้องเสียค่าภาคหลวง ๑๗๒.๖๐ บาท และ ๕๘ ท่อน เนื้อไม้ ๑๒๗.๘๙ ลูกบาศก์เมตร ต้องเสียค่าภาคหลวง ๒,๕๕๗.๘๐ บาท ตามลำดับ และจำเลยต่างบังอาจมีไม้ที่ตัดดังกล่าวอันเป็นไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปและไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงประทับไว้ในความครอบครองของจำเลย ไม้ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีต่อท้าย พ.ร.ก.กำหนดไม้หวงห้าม ๒๔๙๗
จำเลยทั้ง ๒ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า ไม้ตะเคียนสามพอนไม่เป็นไม้หวงห้ามตามพ.ร.ก.กำหนดไม้หวงห้าม ๒๔๙๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ๒๔๘๔ ม.๑๑,๖๙,๗๓ (ฉบับที่ ๓) ๒๔๙๔ มาตรา ๖,๑๖,๑๗ พ.ร.ก.กำหนดไม้หวงห้าม ๒๔๙๗ มาตรา ๔ ให้รวมกระทงลงโทษปรับนายสงบจำเลย ๕๐๐ บาท ส่วนนายสนานจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ๕ ปี
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.กำหนดไม้หวงห้าม ๒๔๙๗ ได้กำหนดหวงห้ามไม้ตะเคียนในจังหวัดสตูลไว้หลายแห่ง อันดับ ๒๒ ใช้คำว่า ไม้ตะเคียนชนิดอื่น ๆ ฉะนั้นไม้ตะเคียนสามพอน จึงรวมอยู่ในความหมายของคำว่า ไม้ตะเคียนชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. พิพากษายืน