คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91, 189, 289, 371 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 62 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 72 ริบอาวุธมีดและปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1981/2561 ของศาลชั้นต้น
ระหว่างการพิจารณา นางสาวนิภาวดี บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสายันต์ ผู้ตายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนความผิดฐานอื่นโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 รับสารภาพข้อหาเดินทางเข้ามาและออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การในคดีส่วนแพ่งในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมเรียกมาสูงเกินจริง ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 ไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83, 371 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ประกอบมาตรา 83 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท ฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต ฐานออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐาน (ที่ถูก ร่วมกัน) พาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 900 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยที่ 3 รับสารภาพข้อหาออกไปนอกราชอาณาจักรและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ส่วนข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ข้อหาพาอาวุธปืน (ที่ถูก ร่วมกันพาอาวุธมีด) ไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 และที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตลอดชีวิต ฐานออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือน ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือน ฐาน (ที่ถูก ร่วมกัน) พาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ ปรับ 600 บาท และจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 4 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตแล้ว ไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมารวมได้อีก คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 600 บาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1981/2561 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง และให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 วรรคสอง ฐานออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับกระทงละ 1,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับกระทงละ 500 บาท เมื่อรวมโทษทุกข้อหาแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 1,600 บาท จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่งด้วย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 4 และที่ 5 การกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 6 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกข้อหาแล้วให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียว คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตลอดชีวิต แต่เมื่อรวมโทษทุกข้อหาแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 6 ตลอดชีวิตสถานเดียว ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 2,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำหรับคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ปรากฏตามสำเนามรณบัตรท้ายคำร้อง โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้าง ในตำแหน่งพนักงานขับรถ จำเลยที่ 4 เป็นนายกเทศมนตรี และเคยรับราชการทหาร จำเลยที่ 5 เป็นสมาชิกสภาจังหวัด เคยรับราชการทหาร และเป็นน้องของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 รู้จักกับจำเลยที่ 5 ตอนเข้าร่วมชุมนุมกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง ส่วนนางสาวสายันต์ กับนายพิพัฒน์ ผู้ตายทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โดยนางสาวสายันต์ ผู้ตายที่ 1 มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 4 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายหลายคนเข้าไปในบริเวณบ้านของผู้ตายทั้งสองแล้วร่วมกันใช้มีดเป็นอาวุธแทงผู้ตายทั้งสองจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย คดีของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากเบิกความและให้การสอดคล้องยืนยันตรงกันว่า ภาพคนร้ายจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกไว้ได้ในขณะที่กลุ่มคนร้ายกำลังวิ่งหลบหนีหลังจากที่ร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสองบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแล้ว คนร้ายคนที่ 2 ตามที่ปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหวมีลักษณะท่าทางคล้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งมีบุคลิกลักษณะไม่เหมือนคนปกติทั่วไป เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขาโก่งเวลาเดินขาจะกะเผลกทั้งสองข้าง และจำเลยที่ 1 ชอบใส่เสื้อมีฮู้ดคลุมศีรษะ พยานทั้งสามต่างรู้จักและมีความคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 มาก่อน การชี้ตัวจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนซึ่งยืนปะปนกับบุคคลอื่น พยานทั้งสามก็ชี้ยืนยันได้ถูกต้องโดยไม่มีข้อพิรุธ บ่งชี้ได้ว่าพยานทั้งสามคุ้นเคยและจดจำลักษณะท่าทางของจำเลยที่ 1 ได้จริง แม้โจทก์กับโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกรณีกับความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ นอกจากนี้บันทึกเหตุการณ์ตามที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่า ขณะที่ผู้ตายที่ 1 ลงจากรถ มีสุนัขในบ้านที่เลี้ยงไว้ 1 ตัว วิ่งเข้าไปหาผู้ตายที่ 1 โดยไม่มีเสียงเห่าเป็นสัญญาณผิดปกติ พฤติการณ์จึงส่อแสดงให้เห็นได้ว่าคนร้ายบางคนที่รออยู่ในบ้านของผู้ตายทั้งสองต้องมีความคุ้นเคยกับสุนัขที่ผู้ตายทั้งสองเลี้ยงไว้สอดคล้องกับที่นางพิสมัยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้ตายทั้งสอง พยานเคยเห็นจำเลยที่ 1 เข้าออกบ้านของผู้ตายทั้งสองบ่อยครั้ง สุนัขที่บ้านของผู้ตายทั้งสองจะไม่เห่าจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสามเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าพยานทั้งสามเบิกความไปตามความจริง และโจทก์กับโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจเอกศตพัฒน์ ผู้กำกับการสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดีเป็นพยานเบิกความสนับสนุน โดยพยานเบิกความถึงขั้นตอนรายละเอียดในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งทราบว่ากลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุคือจำเลยที่ 1 กับพวกโดยไม่ปรากฏข้อระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 1 เช่นกัน ทำให้พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังมั่นคงยิ่งขึ้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านทั้งคืนไม่ได้ออกไปไหน จำเลยที่ 1 ไม่เคยไปที่บ้านของผู้ตายทั้งสองนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน จึงไม่ทำให้มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายทั้งสองจนถึงเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายโชคชัย ซึ่งรู้จักกับจำเลยที่ 6 เนื่องจากเคยร่วมชุมนุมกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงด้วยกันเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2560 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยที่ 6 โทรศัพท์ให้พยานไปรับเพื่อพาไปที่บ้านของจำเลยที่ 5 เมื่อพยานไปถึงพบจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีการพูดคุยกันเรื่องผู้ตายที่ 1 จำเลยที่ 5 บอกว่า ผู้ตายที่ 1 โกงเงินต้องการจะหาคนมาฆ่าผู้ตายที่ 1 จำเลยที่ 5 สอบถามจำเลยที่ 6 ว่า รู้จักพวกมือปืนบ้างหรือไม่ จำเลยที่ 6 ไม่ตอบ แต่บอกให้พยานออกไปรอข้างนอก พยานเดินออกไปสูบบุหรี่ห่างจากโต๊ะที่นั่งประมาณ 10 ถึง 15 เมตร คงเหลือจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 นั่งพูดคุยกัน ต่อมาประมาณ 30 นาที จำเลยที่ 6 เรียกให้พยานกลับไปนั่งที่โต๊ะ จำเลยที่ 6 ถามพยานว่า พอจะรู้จักมือปืนหรือซุ้มมือปืนบ้างไหม พยานตอบว่าไม่รู้จักและพูดถ่อมตัวว่าขนาดปลายังไม่ฆ่าเลยแล้วลุกออกไปจากโต๊ะไป พยานตั้งใจว่าจะไปรอจำเลยที่ 6 ยังที่จอดรถ จากนั้นจำเลยที่ 6 เดินมาหาพยานที่รถแล้วบอกให้กลับไปที่โต๊ะ จำเลยที่ 5 มีเรื่องจะคุย พยานกลับไปหาจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 5 ถามว่า จะรับงานไหมให้ค่าจ้าง 2,000,000 บาท ตกลงจ่ายให้ครึ่งหนึ่งก่อน เมื่องานแล้วเสร็จจะจ่ายส่วนที่เหลือ พยานตกลงรับงานแต่ขอไปดูทางหนีทีไล่ว่าคนที่จะลงมือเป็นใคร มีลูกน้องหรือไม่ มีอันตรายต่อพยานหรือไม่ จากนั้นพยานลุกออกไปขึ้นรถเดินทางกลับพร้อมจำเลยที่ 6 หลังจากส่งจำเลยที่ 6 แล้ว พยานขับรถไปที่บ้านของผู้ตายทั้งสองเพื่อไปดูที่หน้าบ้านของผู้ตายทั้งสอง พยานเห็นผู้ตายที่ 1 ขับรถมาที่บ้านและดูแล้วลงมือยากเพราะประตูบ้านใช้รีโมทเปิดปิด พยานสอบถามชาวบ้านทราบว่าผู้ตายที่ 1 เป็นคนดีและเห็นว่าเป็นคนแก่จึงโทรศัพท์บอกจำเลยที่ 5 ขอยกเลิกงาน แล้วปิดโทรศัพท์ทันทีเพราะกลัวว่าจำเลยที่ 5 จะสอบถามมากกว่านี้ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ต่อมาหลังจากที่พยานทราบข่าวว่าผู้ตายทั้งสองถูกฆ่าตาย พยานโทรศัพท์ไปถามจำเลยที่ 6 ว่ารู้เรื่องหรือไม่ว่าใครเป็นคนฆ่า จำเลยที่ 6 บอกว่า จำเลยที่ 5 ให้คนอื่นไปทำแล้วชื่อนายโก๋ พยานไม่รู้จักนายโก๋เป็นการส่วนตัว แต่เคยเห็นอยู่ที่ตลาดเขาดินเป็นลูกน้องของจำเลยที่ 5 นายโก๋คือนายชาญชัย และโจทก์กับโจทก์ร่วมมีพันตำรวจตรีทัศนัย สารวัตรสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เป็นพยานเบิกความว่า จากการสืบสวนได้ข้อมูลแน่ชัดว่าจำเลยที่ 3 และนายชาญชัยร่วมเป็นคนร้ายในคดีนี้ จำเลยที่ 3 และนายชาญชัยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 3 ยังให้การในชั้นจับกุมว่า นายชาญชัยเป็นคนเรียกให้ไปทำงานโดยไปวางแผนกันที่บ้านของจำเลยที่ 5 เหตุจูงใจที่จำเลยที่ 3 กระทำเพราะได้ค่าจ้างและเชื่อว่าจะไม่ถูกจับกุมเพราะมีจำเลยที่ 5 หนุนหลัง และเป็นการตอบแทนจำเลยที่ 5 ที่ช่วยเหลือจำเลยที่ 3 ให้เข้าทำงาน จำเลยที่ 5 เป็นพี่น้องกับจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความขัดแย้งทางการเมืองกับผู้ตายที่ 1 จนผู้ตายที่ 1 ประกาศเลิกสนับสนุนจำเลยที่ 4 และจะสนับสนุนคนอื่นแทน พยานเชื่อว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 3 กับนายชาญชัยฆ่าผู้ตายทั้งสอง เพราะจำเลยที่ 3 และนายชาญชัยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมีความขัดแย้งกับผู้ตายที่ 1 แต่คนที่มีความขัดแย้งคือจำเลยที่ 4 และที่ 5 และโจทก์กับโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจโทไตรสิทธิ์ รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรคลองหาดเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แล้ว พยานสืบทราบว่าบัญชีของนายชาญชัยที่เปิดไว้กับธนาคาร ก. มีการรับโอนเงินจากนายสมศักดิ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 รับโอนเงิน 100,000 บาท ครั้งที่ 2 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 รับโอนเงิน 50,000 บาท นายสมศักดิ์เป็นลูกน้องของจำเลยที่ 5 ส่วนนายชาญชัยเป็นลูกน้องของจำเลยที่ 5 เช่นกัน พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 5 พยานเคยเห็นรถกระบะของนายชาญชัยจอดอยู่ในบ้านของจำเลยที่ 5 และทราบจากดาบตำรวจแดง น้องของนายชาญชัยยืนยันกับพยานว่านายชาญชัยพักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 5 นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจเอกศตพัฒน์ ผู้กำกับการสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เป็นพยานเบิกความว่า จากการหาข้อมูลของนายชาญชัยพบว่า เคยเป็นอดีตทหารพรานและเป็นลูกน้องของจำเลยที่ 5 แต่ได้ลาออกมาทำงานที่เทศบาลตำบลคลองหาด และเป็นผู้ติดตามจำเลยที่ 5 อย่างใกล้ชิด ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2561 เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าสีดำของนายชาญชัย ตรวจสอบพบข้อมูลว่าจำเลยที่ 6 ให้นายโชคชัยขับรถไปส่งที่จังหวัดหนองคายโดยแจ้งว่าจำเลยที่ 5 สั่งให้หาคนขับรถไป พยานจึงนำนายโชคชัยมาสอบปากคำ นายโชคชัยให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 5 ว่าจ้างให้ขับรถข้ามไปฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบนายชาญชัยรอรับรถอยู่ นายโชคชัยรู้จักจำเลยที่ 5 และเคยไปหาจำเลยที่ 5 เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2560 จำเลยที่ 6 พานายโชคชัยไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่บ้านของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่าจ้างนายโชคชัยให้ไปฆ่าผู้ตายที่ 1 ตอนแรกนายโชคชัยตกลงรับงานแต่ภายหลังล้มเลิก นายโชคชัยยังให้การว่า ได้สอบถามจำเลยที่ 6 เรื่องที่ผู้ตายทั้งสองถูกฆ่าตาย จำเลยที่ 6 บอกนายโชคชัยว่า จำเลยที่ 5 ได้ให้นายชาญชัยไปจัดการแล้ว และต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2561 มีการจับกุมจำเลยที่ 6 ได้ จำเลยที่ 6 ให้การปฏิเสธแต่ได้ให้การในรายละเอียดว่า จำเลยที่ 5 เคยเล่าความขัดแย้งระหว่างจำเลยที่ 5 กับผู้ตายที่ 1 ให้ฟัง จำเลยที่ 6 เคยพานายโชคชัยไปที่บ้านของจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ยังให้การอีกว่า หลังเกิดเหตุแล้วได้พาจำเลยที่ 5 ไปหลบซ่อนตัว ระหว่างที่ขับรถไป จำเลยที่ 6 สอบถามจำเลยที่ 5 ว่า มีเรื่องอะไร จำเลยที่ 5 บอกว่าได้ใช้ให้นายชาญชัยและจำเลยที่ 3 ไปฆ่าผู้ตายที่ 1 แล้ว เห็นว่า แม้โจทก์กับโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยาน แต่คำให้การและคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ใช้ให้นายชาญชัยกับพวกไปฆ่าผู้ตายที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญนั้น มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันสมเหตุผล เริ่มตั้งแต่ขั้นตระเตรียมวางแผน ขั้นตอนการดำเนินการกระทำความผิดและขั้นตอนหลังเกิดเหตุ ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากที่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมจะร่วมกันปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นเองเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยเฉพาะพันตำรวจตรีทัศนัย พันตำรวจโทไตรสิทธิ์ และพันตำรวจเอกศตพัฒน์ เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ร่วมสืบสวนสอบสวนคดีนี้มาตั้งแต่ต้น อันเป็นการปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทุกปากมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 มาก่อน หรือปรากฏเหตุจูงใจใด ๆ ที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งในที่สุดแล้วนายโชคชัยก็มิได้เป็นคนร้ายที่ร่วมลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสอง โดยกลุ่มคนร้ายที่ลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสองคือจำเลยที่ 3 กับพวก โดยไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้ตายทั้งสองในบ้านที่เกิดเหตุไม่มีอะไรสูญหายไป แม้กระทั่งสร้อยคอทองคำที่ผู้ตายที่ 1 สวมใส่อยู่ก็ตาม นอกจากนี้กลุ่มคนร้ายที่ลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่ารู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายทั้งสองมาก่อน พฤติการณ์บ่งชี้ได้ว่ากลุ่มคนร้ายประสงค์ที่จะเอาชีวิตของผู้ตายทั้งสองเพียงสถานเดียวเท่านั้น ตามที่ได้รับการใช้ จ้าง วาน ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมหลาย ๆ ปากด้วยกันว่า ผู้ตายที่ 1 มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 อีกทั้งเรื่องที่ผู้ตายที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กู้ยืมเงินไป 10,000,000 บาท ซึ่งผู้ตายที่ 1 เคยพูดไว้ก่อนตายว่า หากผู้ตายที่ 1 เป็นอะไรไป ก็มีเพียงจำเลยที่ 4 และที่ 5 เท่านั้นที่เป็นคนทำ แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ตายที่ 1 มีปัญหาขัดแย้งรุนแรงกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จริง ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาสามารถเชื่อมโยงไปถึงจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน ที่จำเลยที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีความขัดแย้งกับผู้ตายที่ 1 จำเลยที่ 4 ไม่เคยรู้จักและไม่เคยพบกับนายโชคชัย ไม่เคยจ้างนายโชคชัยให้ไปฆ่าผู้ตายที่ 1 จำเลยที่ 4 ไม่รู้จักจำเลยที่ 3 และไม่ได้ใช้ จ้าง วาน ให้ก่อเหตุคดีนี้ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 5 ที่นำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 5 ไม่เคยมีความขัดแย้งกับผู้ตายทั้งสอง และไม่เคยรู้จักนายโชคชัยมาก่อน จำเลยที่ 5 ไม่เคยติดต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น คงมีเพียงจำเลยที่ 4 และที่ 5 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน โดยเฉพาะพยานบุคคลที่จำเลยที่ 4 นำมาสืบก็ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 4 เบิกความได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่สำหรับจำเลยที่ 6 ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงคงฟังได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 6 เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนที่มีการว่าจ้างนายโชคชัยโดยไปที่บ้านของจำเลยที่ 5 เท่านั้น ซึ่งนายโชคชัยปฏิเสธไม่รับงาน ส่วนเหตุการณ์ตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสองนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงจำเลยที่ 6 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรหรือไม่ คงได้ความแต่เพียงจำเลยที่ 6 โทรศัพท์ให้นายโชคชัยขับรถของนายชาญชัยไปส่งที่จังหวัดหนองคายเท่านั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบไม่อาจพิสูจน์ให้รับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยที่ 6 มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วาน ด้วยแล้ว กรณียังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 6 ได้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง สำหรับความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อมิให้ถูกจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมคงได้ความเพียงว่า ขณะที่จำเลยที่ 6 โทรศัพท์ให้นายโชคชัยขับรถของนายชาญชัยซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดไปส่งที่จังหวัดหนองคาย นายชาญชัยได้หลบหนีไปที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ช่วยเหลือในการหลบหนีดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
สำหรับเรื่องค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้แก่โจทก์ร่วมนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 อันเป็นวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามมาตรา 7 ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี หรืออัตราตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ชำระหนี้เสร็จ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และในส่วนดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ร่วมขอ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2