คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของนายชัย ผู้ตาย ต่อมาในระหว่างจัดการมรดกเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือจัดการมรดกต่อไป ส่วนนายบัญชาชนะ บุตรของผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านพร้อมกับร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แล้ว มีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องขอของนายบัญชาชนะ ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายชัย ผู้ตาย ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย และขอให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือจัดการมรดกต่อไป นายบัญชาชนะ ผู้คัดค้าน ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอถอนผู้คัดค้านที่ 5 จากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตาย และขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้จัดการมรดกที่เหลือ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้ กรณีเป็นเหตุที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 จึงให้ถอนผู้คัดค้านที่ 5 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในส่วนคำร้องของนายบัญชาชนะ ผู้คัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกที่เหลือ ไม่ได้ความว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก จึงให้ยกคำร้องขอ
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านเพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกอื่นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องต้องเป็นบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 และจะต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและถึงแก่ความตายแล้ว ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 5 จึงเป็นผู้เข้ารับมรดกแทนที่ผู้คัดค้านที่ 5 และอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานอันถือเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 เมื่อตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า มีเหตุจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ซึ่งเมื่อการจัดการมรดกรายนี้มีการตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว และผู้คัดค้านร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกอื่น การจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก" และในวรรคสอง ที่บัญญัติว่า "การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร" ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้วจะเห็นว่า เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2556 โดยได้ความจากคำคัดค้านและคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ทายาทของเจ้ามรดกมีการประชุมกันหลายครั้งและมีข้อตกลงให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน 7 คน แต่ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ผู้คัดค้านทั้งหกต้องยื่นคำคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 นับเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน ก็ยังไม่มีการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้านทั้งหกต่างก็อ้างว่าเป็นเพราะอีกฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือ จนเมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย การจัดการมรดกรายนี้ก็ยังไม่อาจกระทำได้ และเมื่อการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ เป็นการขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน แสดงว่าศาลชั้นต้นยังไม่เห็นสมควรที่จะให้ทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียวโดยลำพัง แต่เห็นเป็นการสมควรให้ทายาทของเจ้ามรดกทั้ง 7 คน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทำให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ 6 คน ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้โดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ทั้ง 6 คน เป็นผู้จัดการมรดกเพราะจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งกรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่จัดการมรดกต่อไปได้แต่ไม่อาจจัดการมรดกโดยลำพังมาใช้บังคับกับกรณีการตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ได้ เพราะคดีนี้ไม่ใช่การตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกอันเนื่องมาจากผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย และขอให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือจัดการมรดกต่อไป การที่ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายย่อมทำให้อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายสิ้นสุดลงโดยไม่จำต้องมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ให้ชัดแจ้ง ย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรมีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ให้ชัดแจ้งโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน และเห็นว่าเมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย อำนาจในการจัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 5 ย่อมสิ้นสุดลง จึงเห็นสมควรให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายต่อไป ส่วนกรณีมีเหตุจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยหรือไม่นั้น เมื่อผู้คัดค้านถือเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายแล้ว ทั้งเหตุดังกล่าวมาข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้จัดการมรดกไม่อาจเริ่มจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกได้เพราะความเห็นไม่ตรงกันหรือเพราะทรัพย์มรดกมีมูลค่านับพันล้านบาทและเป็นทรัพย์สินที่อยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ปี 3 เดือน ก็ยังไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ แม้เดิมจะมีผู้จัดการมรดกร่วมกันมากถึง 7 คน และสามารถใช้เสียงข้างมากชี้ขาดเพื่อให้การจัดการมรดกดำเนินไปได้ ก็ยังไม่อาจเริ่มต้นในการจัดการมรดกได้ เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ทำให้คงเหลือผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการจัดการมรดกเพียง 6 คน ซึ่งไม่อาจหาเสียงชี้ขาดได้หากเกิดกรณีที่มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่ายและแต่ละฝ่ายมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็จะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 โดยจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป กรณีที่กล่าวมาทั้งหมดจึงถือเป็นเหตุขัดข้องประการหนึ่งที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่อาจจัดการมรดกหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายอันถือเป็นเหตุที่ศาลจะพิจารณาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ทั้งเมื่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดในพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เมื่อการจัดการมรดกรายนี้ถือได้ว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามความแห่ง มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) แล้ว ทั้งในชั้นตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกก็เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินและการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 2 ตั้งแต่มาตรา 1734 ถึงมาตรา 1752 โดยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 4 หมวด 1 ซึ่งกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน การทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถือตามเสียงข้างมากตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 เมื่อคำนึงถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกดังที่กล่าวมาแล้ว การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยย่อมทำให้การจัดการมรดกมีเสียงข้างมากซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตาย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายชัย ผู้ตายร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และหากผู้จัดการมรดกคนหนึ่งคนใดถึงแก่ความตายให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือร่วมกันจัดการมรดกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ