โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถานีบริการแก๊สทั้งหมดออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 70865 และ 79452 - 79458 หรือร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าทำเลที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 คนละ 150,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถานีบริการแก๊สทั้งหมดออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 70865, 79452 - 79458 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงินคนละ 15,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งหก กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลที่โจทก์ทั้งหกได้รับการยกเว้นแทนโจทก์ทั้งหก เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระแทนเท่าที่โจทก์ทั้งหกชนะคดี โดยให้จำเลยทั้งสามนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ต่างทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินในโครงการบ้าน ป. จากจำเลยที่ 1 ก่อนฟ้องคดีโจทก์ที่ 2 ยกบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 3 บ้านพร้อมที่ดินที่โจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ทำสัญญาจะซื้อจะขายอยู่ด้านหน้าของโครงการและอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกแปลงหนึ่งคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 70865 ทางด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าวในขณะทำสัญญาเป็นที่ว่างเปล่าและอยู่ห่างจากบ้านพร้อมที่ดินที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายประมาณ 18 เมตร หลังจากจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ตามสัญญาแล้ว ในวันที่ 7 ตุลาคม 2552 จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 70865 ไปแบ่งแยกในนามเดิมอีก 7 แปลง หลังจากนั้นโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินออกให้จำเลยที่ 3 เช่าเพื่อทำสถานีบริการแก๊สสำหรับรถยนต์ โดยจำเลยที่ 3 ได้ขออนุญาตก่อสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทและต่อมาจำเลยที่ 3 ขออนุญาตปลูกสร้างและประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมายเป็นการใช้สิทธิในที่ดินของตนเองไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกเพื่อให้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงไม่เป็นการละเมิดและไม่ทำให้โจทก์ทั้งหกเกิดความเสียหายเดือดร้อนเกินควรแต่อย่างใด เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ให้คำรับรองแก่โจทก์ทั้งหกว่าจะนำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงเป็นการซื้อขายโดยสุจริต ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าโดยจำเลยที่ 3 นำที่ดินที่เช่าไปขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้ความจากนายนราธิป ผู้อำนวยการเขตคลองสามวาซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ก่อนออกใบอนุญาตดังกล่าวผู้ขออนุญาตต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใช้อาคารจากสำนักการโยธากรุงเทพมหานครต้องมีใบอนุญาตของกรมธุรกิจพลังงานที่อนุญาตให้เปิดสถานีบริการแก๊สได้ มีการจดทะเบียนนิติบุคคล การดำเนินการขออนุญาตทำทางเดินเท้าบริเวณสถานีบริการแก๊สจากทางเข้าสถานีบริการแก๊ส ดูหนังสือผังเมืองที่อนุญาตให้เปิดสถานีบริการแก๊ส ตรวจสอบสุขลักษณะของสถานีบริการแก๊ส เช่น มีอาคารประกอบสำนักงาน ห้องน้ำชายหญิง เครื่องดับเพลิงความสะอาดโดยทั่วไป ระบบระบายน้ำที่จะใช้ในสถานีบริการดังกล่าว เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และมีนายชัยรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนสถานีบริการและสถานที่บรรจุ สำนักความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน เบิกความว่า ก่อนออกใบอนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซ ผู้ยื่นคำขอจะต้องแสดงหลักฐาน คือ ใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตเชื่อมทางเจ้าของถนนที่อยู่ติดกับสถานที่ที่จะสร้างและหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งระบุว่าที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างสถานีบริการแก๊สไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ห้ามสร้างสถานีบริการแก๊ส หลังจากนั้นหน่วยงานของพยานจะพิจารณาระยะห่างความปลอดภัยของสถานีบริการแก๊สกับสถานที่ข้างเคียงและจะต้องห่างสถานที่เรียน สนามกีฬา โรงพยาบาล สถานทูต ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับในการจัดตั้ง ต้องตรวจสอบระยะความปลอดภัยในสถานีบริการแก๊ส เช่น ถังบรรจุแก๊สต้องห่างจากกำแพงกันไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร ตรวจสอบระบบท่อแก๊สต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ถังบรรจุแก๊สต้องฝังอยู่ใต้ดินและต้องเป็นถังที่ได้มาตรฐานออกแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่กฎหมายกำหนด กรมธุรกิจพลังงานจึงออกใบอนุญาตให้แก่จำเลยที่ 3 จากคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว แสดงว่าก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ตั้งสถานีบริการแก๊สได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่าง ๆ การที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าการก่อสร้างสถานีบริการแก๊สอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินรวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งหกจึงเกิดจากการคาดคะเนของโจทก์ทั้งหกเอง ซึ่งกรณีที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร การที่จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิใช้สอยทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 2 โดยมีการขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยปกติ โดยมีเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก หรือเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และมาตรา 1337 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถานีบริการแก๊สทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 มาตรา 3 และมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีโดยมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงินคนละ 15,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2554) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ยกคําขอของโจทก์ทั้งหกในส่วนที่ขอให้บังคับจําเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถานีบริการแก๊สทั้งหมดออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 70865 และ 79452 – 79458 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ