โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 47,280 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 8,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่ออกจากงานเพราะการเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและกรณีเช่นนี้จำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ของจำเลยแล้ว ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์ไปเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าชดเชยที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระเงินตามฟ้อง จำเลยจึงมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่จำต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2532 ข้อบังคับของจำเลยปรากฏตามเอกสารหมายเลข 2 เมื่อโจทก์ออกจากงานแล้ว โจทก์ได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 86,680 บาท จากจำเลย และศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2532 (ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้) แล้วโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47,280 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขแล้วเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์จะเป็นพนักงานของจำเลยไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ การออกจากงานของโจทก์จึงเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่ออกจากงานเพราะเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง แม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็ตาม แต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งไปด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า จำเลยได้จ่ายเงินสงเคราะห์ให้โจทก์แล้วเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2523 ข้อ 8 ให้ถือว่าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2523 เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานที่ออกจากงาน มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 จึงเป็นเงินประเภทอื่นไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ยังไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่ากรณีหนี้ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินเมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันออกจากงานทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระให้แก่โจทก์ก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่นั้น..."
พิพากษายืน.