โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 766,766.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 632,320 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน ของต้นเงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2556 จำนวน 128,000 บาท ในอัตราเดือนละ 2,560 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน ของต้นเงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2557 จำนวน 128,000 บาท ในอัตราเดือนละ 2,560 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 766,766.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 632,320 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ธันวาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 1,280 บาท ของจำนวนค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2556 และปี 2557 รวมเป็นเงินเดือนละ 2,560 บาท นับถัดวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ธันวาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 56 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม ตามสำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมาคม เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 จำเลยขออนุญาตใช้คลื่นความถี่และขยายข่ายวิทยุสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ชนิดประจำที่และชนิดมือถือสำหรับติดต่อประสานงานในการปฏิบัติหน้าที่ ตามหนังสือขออนุญาตใช้คลื่นความถี่และขยายข่ายวิทยุสื่อสาร ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2556 โจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้าร่วมใช้ข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหนังสือพิมพ์มติชนทำหน้าที่สถานีวิทยุคมนาคมควบคุมข่ายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งสถานีฐาน 1 สถานี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเคลื่อนที่ทางบก ชนิดประจำที่ 1 เครื่อง และชนิดมือถือ 100 เครื่อง โดยใช้ความถี่วิทยุ 161.150 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เป็นช่องเรียกขาน ความถี่วิทยุ 161.175 161.200 และ 161.225 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ระบบ VHF/FM ความกว้างแถบความถี่ ไม่เกิน 16 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เป็นช่องปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในกำหนดระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 25 มีนาคม 2557 โดยจำเลยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด และจำเลยต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้คลื่นความถี่ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 7.1 และ 7.2 เป็นเงิน 625,800 บาท ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7 เป็นเงิน 45,696 บาท ภายใน 60 วัน นับวันที่จำเลยได้รับหนังสือนี้ ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2556 เป็นเงิน 128,000 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 8,960 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าตอบแทนดังกล่าว กับให้จำเลยชำระค่าตอบแทนเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือนกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนภายในกำหนดเวลา ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 7.3 นับถัดจากวันครบกำหนดคือวันที่ 26 มีนาคม 2556 จนถึงวันที่ชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์มีหนังสืออนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่ต่อไปจนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2558 ตามที่จำเลยแจ้งขออนุญาต พร้อมกับแจ้งให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2556 และ 2557 เป็นเงิน 128,000 บาท ต่อปี ภาษีมูลค่าเพิ่มปีละ 8,960 บาท และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุภายในกำหนดเวลาในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระรายเดือน ของปี 2556 และ 2557 เมื่อการอนุญาตให้จำเลยใช้ความถี่วิทยุได้สิ้นสุดลง จำเลยไม่ได้ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2556 และ 2557 และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มแก่โจทก์ สำหรับค่าตอบแทนที่จำเลยไม่ชำระจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 766,766.03 บาท นั้น โจทก์และจำเลยไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุข้อ 7.3 เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เรียกให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จโดยอาศัยผลของกฎหมาย มิใช่ในฐานะคู่สัญญา ไม่ใช่เป็นการเรียกค่าปรับนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า มาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ประกอบมาตรา 97 แห่งพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และมาตรา 161 แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุ ต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และในกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 7.3 โจทก์มีหนังสือเรื่องการอนุญาตให้จำเลยใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเพื่อสื่อมวลชน สืบเนื่องมาจากจำเลยมีหนังสือเรื่องขออนุญาตใช้คลื่นความถี่และขยายข่ายวิทยุสื่อสารจากโจทก์ ซึ่งหนังสือเรื่องการอนุญาตดังกล่าวของโจทก์ ข้อ 6 ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้คลื่นความถี่ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 7 จำเลยต้องปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนด ดังนั้น ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสือเรื่องอนุญาตดังกล่าวด้วย และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินเวลากำหนด จำเลยจึงต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า ลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ร้อยละ 1 ต่อเดือน นั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไข ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 632,320 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ธันวาคม 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์