โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 6,687,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องเจ้าหน้าที่
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2532 นางสาวนิด จั่นเจริญ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4686 ตำบลนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา จากกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งอยู่ในบังคับห้ามแบ่งแยกหรือโอนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2539 นางสาวนิดได้นำที่ดินโฉนดดังกล่าวมาดำเนินการจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ และได้มีการระบุรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวลงในสารบัญจดทะเบียนทั้งในโฉนดที่ดินฉบับหลวงและโฉนดที่ดินเจ้าของเป็นที่ถูกต้องเรียบร้อย และจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินก็ได้ลงนามและประทับตรากรมที่ดินจำเลยที่ 2 รับรองการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ปรากฏต่อมาว่านางสาวนิดผู้ขายฝากมิได้ใช้สิทธิไถ่คืนภายในกำหนด แต่ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรากลับมีหนังสือที่ ฉช. 0022/911 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินที่โจทก์ได้จดทะเบียนรับซื้อฝากไว้นั้น นางสาวนิดผู้ขายฝากได้มาโดยการเช่าซื้อจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 การจดทะเบียนการขายฝากดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเพิกถอนจากการจดทะเบียนการขายฝากดังกล่าวตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ก่อนว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่ เมื่อปรากฎหลักฐานชัดแจ้งในสารบัญจดทะเบียนทั้งในโฉนดที่ดินฉบับหลวงและฉบับเจ้าของว่าที่ดินที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากและนางสาวนิดผู้ขายฝากมายื่นคำร้องขอจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่นางสาวนิดผู้ขายฝากได้มาโดยการเช่าซื้อจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อันตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยวิสัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินของกรมที่ดิน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบและตระหนักดีว่าจะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการขายฝากให้แก่โจทก์และนางสาวนิดไม่ได้ เพราะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่จำเลยที่ 1 กลับดำเนินการรับจดทะเบียนการขายฝากให้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกรมที่ดินจำเลยที่ 2 โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าโจทก์ได้ทราบข้อความที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนเป็นอย่างดีแล้วว่าที่ดินที่ยื่นคำขอจดทะเบียนขายฝากเป็นที่ดินที่นางสาวนิดผู้ขายฝากซื้อมาจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นที่ดินเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การที่โจทก์ยินยอมเข้าทำสัญญาขายฝากกับนางสาวนิดโดยความสมัครใจ โดยรู้อยู่ว่าที่ดินพิพาทตกอยู่ภายใต้บังคับห้ามแบ่งแยกหรือโอนตามกฎหมาย เท่ากับโจทก์เต็มใจยอมรับผลแห่งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ในอนาคต การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และตามความยินยอมของคู่ความสัญญาเท่านั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้ ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า แม้ตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินเลขที่ 4686 ฉบับหลวงเอกสารหมาย จ.4 จะปรากฏรายการจดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2532 ระบุว่ากระทรวงการคลัง (เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ขายที่ดินโฉนดแปลงนี้ให้แก่นางสาวนิด จั่นเจริญ โดยมีข้อความประทับไว้ด้วยว่า "ที่ดินแปลงนี้อยู่ในบังคับห้ามแบ่งแยกหรือโอนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518" ก็ตาม และในโฉนดที่ดินดังกล่าวฉบับเจ้าของตามเอกสารหมาย จ.5 ในรายการสารบัญจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมวันเดียวกันนั้นหาได้ปรากฏเงื่อนไขข้อบังคับห้ามแบ่งแยกหรือโอนเช่นว่านั้นในสารบัญจดทะเบียนไม่และตามปกติในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์มีโอกาสตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานแห่งสิทธิ รวมทั้งภาระผูกพันต่าง ๆ ของที่ดินที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ก็แต่เพียงจากต้นฉบับโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของ ซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โฉนดที่ดินฉบับหลวงเป็นฉบับที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการซึ่งตามปกติหากไม่มีเหตุผลพิเศษ โจทก์หาจะจำต้องตรวจสอบจากฉบับหลวงแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่ 2 ที่จะต้องบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ลงในสารบัญจดทะเบียนทั้งในฉบับหลวงและฉบับเจ้าของให้ถูกต้องตรงกัน อีกทั้งการที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน อันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสำนักงานที่ดินซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรให้แก่รัฐ ทั้งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 2 ทุกประการ โจทก์ย่อมเชื่อมั่นว่าสิทธิและนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดหน่วยงานของจำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนให้นั้นเป็นการถูกต้องสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะรับฟังว่าโจทก์ร้องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าที่ดินที่ขอจดทะเบียนการขายฝากนั้นตกอยู่ในบังคับข้อห้ามแบ่งแยกหรือโอนตามกฎหมาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้ลงชื่อรับรองข้อความในด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินว่าในการทำสัญญาโจทก์ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ได้มีการตกปากลงคำสัญญากันมาอย่างแน่นอนแล้ว จึงมาทำสัญญาขอจดทะเบียน หากเกิดการผิดพลาดและผิดตัวเจ้าของที่ดิน โจทก์ขอรับผิดเองทั้งสิ้นไม่เกี่ยวข้องแก่พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างไรนั้น ข้อความที่โจทก์ยืนยันลงชื่อรับรองไว้ดังกล่าวนั้น มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งเฉพาะกรณีเกิดผิดพลาดและผิดตัวเจ้าของที่ดินผู้เป็นคู่สัญญาในการจดทะเบียนการขายฝากเท่านั้น หามีผลคุ้มครองถึงการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในกรณีอื่น ๆ นอกจากนี้ไม่ อีกทั้งข้อความดังกล่าวหาใช่ข้อที่จะยืนยันว่าโจทก์ยินยอมรับผิดเองทั้งสิ้นเพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดบกพร่องดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์ทำกับนางสาวนิดตกเป็นโมฆะต้องถูกเพิกถอน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วคดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ในประการต่อไปว่า โจทก์เสียหายเพียงใด ในข้อนี้เห็นว่า การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินโฉนดพิพาทจากนางสาวนิดในราคา 5,000,000 บาท นั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 499 ซึ่งบัญญัติว่า "สินไถ่นั้นถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก" เมื่อการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินไถ่ตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไถ่จำนวน 5,000,000 บาท ดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน เป็นเงิน 1,687,500 บาท นั้น เนื่องจากสินไถ่จำนวน 5,000,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากและนางสาวนิดผู้ขายฝากตกลงกันในขณะทำสัญญา ซึ่งเงินจำนวน 5,000,000 บาทนี้หาใช่ยอดเงินที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับทันทีตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ในวันที่รับจดทะเบียนการขายฝากคือวันที่ 31 มกราคม 2539 ดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องไม่ หากแต่เป็นยอดเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีการไถ่ถอนการขายฝาก ดังนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดไถ่ถอนเป็นต้นไป เมื่อสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับนางสาวนิดกำหนดให้ไถ่ถอนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาซึ่งแสดงว่ามีกำหนดไถ่ถอนภายในวันที่ 31 มกราคม 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันดังกล่าวไปจนกว่าจะชำระเสร็จ"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,687,500 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2