โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 187 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าดำเนินการทางคดี 10,000 บาท ให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้น อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหายืม ค้ำประกัน เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.9966/2553 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 14,000 บาท กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วแต่ไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ที่ใด เพราะจำเลยที่ 2 ปิดบังสถานที่ทำงานเพื่อมิให้โจทก์อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มีมูลประทับรับฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ข้อเท็จจริงว่าเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 โจทก์ไปหาจำเลยทั้งสองที่บ้านตามฟ้อง แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ทราบว่าย้ายออกจากบ้านนานแล้ว โดยนำทรัพย์สินภายในบ้านติดตัวไปด้วยส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ทราบว่าทำงานอยู่ที่ใดเพราะปิดบังที่ทำงาน เพื่อไม่ให้โจทก์อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ได้ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้องจึงไม่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกอายัด อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ในผลคำพิพากษาที่ยกฟ้องโจทก์จากเหตุฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าว และปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน