โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 291,569.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2564) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้แทน แต่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียง 15,000 บาท และไม่ต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยหลังฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ส่วนที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคาเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 639,539.90 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 7,614 บาท รวม 84 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบถ้วน โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 1 ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2562 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 639,539.90 บาท ด้วยวิธีการผ่อนชำระเป็นรายเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนติดต่อกันไปรวม 84 เดือน จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันในอันที่จะต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา โดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นมา จากนั้นวันที่ 28 เมษายน 2562 จำเลยที่ 1 ก็ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทโต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อกันแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ได้ความแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่ไม่ชำระค่าเช่าซื้อว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ได้ และที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันเป็นจำนวน 3 งวด บ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงออกมาด้วยว่าจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ก็ยังบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยมีเจตนาจะเลิกสัญญาตามที่วินิจฉัยมา และโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุทึ่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 พฤติการณ์แห่งคดีหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 11 ที่กำหนดไว้ใจความว่า เมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ๆ หากโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายโดยวิธีการประมูลหรือวิธีการขายทอดตลาดที่เหมาะสม หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดส่วนที่ขาด ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดได้ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อค่าขาดราคา 269,319.90 บาท ที่เรียกร้องมาโจทก์คำนวณจากค่าเช่าซื้อตามสัญญาหักด้วยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ แต่ค่าเช่าซื้อตามสัญญานี้เป็นการรวมผลประโยชน์ตลอดอายุสัญญาจำนวน 133,286.82 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 41,839.06 บาท เข้าไว้ด้วย ทั้งสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญา ค่าขาดราคาที่โจทก์เรียกร้องมานี้จึงสูงเกินส่วน เมื่อพิจารณาถึงเงินลงทุนของโจทก์กับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 106,000 บาท ค่าขาดราคาที่กำหนดให้นี้เมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์ 21,000 บาท ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดทั้งสิ้น 127,000 บาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าขาดราคา นั้น โดยที่ข้อกำหนดและเงื่อนไขการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 14 กำหนดถึงความรับผิดในเบี้ยปรับเฉพาะแต่เบี้ยปรับของค่าเช่าซื้อที่ผิดนัด นับแต่วันถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้อแต่ละงวดจนถึงวันชำระครบถ้วน และค่าเสียหายเพียงเท่าที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริงกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวหาได้กำหนดรวมถึงเบี้ยปรับของค่าขาดราคาด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของค่าขาดราคาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่อย่างไรก็ตามค่าขาดราคาเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับดอกเบี้ยของค่าขาดประโยชน์ที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์บอกกล่าวการผิดนัดไปยังจำเลยที่ 2 ล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ซึ่งปัญหานี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และค่าขาดราคาเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในวันที่ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในค่าขาดราคานี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 127,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราและกำหนดเวลาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ