โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางนิตยา พรหมกล่ำ เคยนำเช็คธนาคารกสิกรไทยมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2533นางนิตยาสั่งจ่ายเช็คผู้ถือของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ 20 มีนาคม 2534 จำนวนเงิน700,000 บาท มีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อาวัลสั่งจ่าย มอบให้โจทก์เพื่อแลกเช็คฉบับเดิมคืนไป ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์2534 โจทก์โอนเช็คฉบับดังกล่าวให้นายวรพล ตามูล เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดิน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2534 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 15 กรกฎาคม 2534 โจทก์ถูกนายวรพลฟ้องให้รับผิดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายวรพล และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายวรพลโดยกำหนดค่าทนายความ 1,800 บาท วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535โจทก์ชำระเงินตามคำพิพากษาให้กับนายวรพลเป็นเงินทั้งสิ้น755,483 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากนายวรพลเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 377,741.50 บาทและดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,319.50 บาท รวมกับต้นเงินแล้วเป็นเงิน 379,061 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 379,061 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 379,061 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยต่างผูกพันเป็นผู้รับอาวัลนางนิตยาผู้สั่งจ่ายเช็คจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นอย่างเดียวกันกับนางนิตยาโจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 377,741.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 379,061 บาท ตามที่โจทก์ขอมา คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 นายวรพล ตามูล ได้เป็นโจทก์ฟ้องนางนิตยา พรหมกล่ำ จำเลยและโจทก์เป็นจำเลยให้ชำระหนี้ตามเช็คผู้ถือจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน (อาวัล)ร่วมกันชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้น คู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายวรพล ตามูล โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้นจำนวน 755,483 บาทแล้วหรือไม่ก่อน โจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์2534 นายวรพลได้แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษารวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 755,483 บาท โจทก์ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องจึงตกลงจะชำระหนี้ให้นายวรพล วันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 โจทก์จึงได้ชำระหนี้ด้วยเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนศรีดอนชัย รวม 2 ฉบับ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535จำนวน 350,000 บาท และลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน405,483 บาท ให้แก่นายวรพลตามบันทึกข้อตกลงและหนังสือรับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยคงนำสืบถึงแต่เรื่องมูลหนี้ตามเช็คที่นายวรพลนำมาฟ้องเท่านั้น แต่ไม่ได้นำสืบปฏิเสธในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้ชำระหนี้จำนวน755,483 บาท ให้แก่นายวรพลแล้ว
จำเลยฎีกาว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้รับอาวัล ไม่สามารถแบ่งส่วนแห่งความรับผิดไล่เบี้ยเอาแก่กันได้เอง ทั้งโจทก์จำเลยยังไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 967 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อผู้ทรง" เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้รับประกันด้วยอาวัลเช็คด้วยกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อนายวรพลผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989ประกอบมาตรา 967 วรรคแรก โจทก์และจำเลยจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามบทมาตราดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับจำเลยในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้ได้เข้าใช้หนี้นั้นแล้ว โจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาชอบแล้ว"
พิพากษายืน