โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อกับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8893/2552, 8894/2552 และ 8895/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายกตพลหรือชยพล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (3)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82, 91 (ที่ถูก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทง รวมจำคุก 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง รวมปรับ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 รวม 2 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 รวม 10,000 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นกักขังมีกำหนด 2 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษกักขังแทนจำคุก คำขอส่วนนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษกักขังจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ติดต่อกับโทษกักขังจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 544/2553, 552/2553 และ 553/2553 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้นับโทษกักขังจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษกักขังของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 544/2553, 552/2553 และ 553/2553 ของศาลชั้นต้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ 2534 มาตรา 4 รวม 4 คดี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันโดยเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นกักขังแทนทั้ง 4 คดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 เมื่อโทษกักขังเป็นโทษที่ลงแทนโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ยังคงต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุดและอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก็มิใช่เหตุที่จะนำโทษกักขังจำเลยที่ 2 มานับต่อจากคดีอื่นไม่ได้ ศาลจึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นับโทษกักขังจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษกักขังในคดีอื่นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน