ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังพยานหลักฐาน (สำเนาเอกสาร) และการตีความเจตนาในการทำพินัยกรรม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์
ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย รค.2 เป็นเพียงสำเนา ผู้คัดค้านมิได้นำต้นฉบับมาแสดง ต้องห้ามมิให้รับฟัง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
เอกสารหมาย รค.2 นอกจากจะมีข้อความระบุในตอนเริ่มต้นว่า "พินัยกรรมนี้เขียนด้วยมือตนเอง..." แล้วยังมีข้อความว่า "ที่นาโฉนดเลขที่ 497 อีกโฉนดเลขที่ 3817 ทั้งสองโฉนดนี้เป็นชื่อ ช. คิดจะเอาไว้เลี้ยงชีวิตยามชรา บัดนี้เราชราลง ได้มีบุญช่วยให้ชีวิตพอดำรงได้โดยไม่ต้องขายที่นากิน จึงยกให้ลูก ๆ พี่น้อง 11 คน..." ถ้อยคำดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายสำนึกถึงความชราและประสงค์จะกำหนดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนที่ยังมีอยู่ ทั้งเป็นข้อความที่ต่อเนื่องมาจากคำว่า พินัยกรรมนี้ แม้ในเอกสารดังกล่าวจะไม่มีคำว่าเผื่อตาย แต่บุคคลทั่วไปอ่านแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าผู้ตายมีเจตนายกที่ดินให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่มีเจตนายกให้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ประกอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า "คำสั่งของบุคคลที่กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว" จึงถือว่าผู้ตายได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้ เอกสารหมาย รค.2 จึงเป็นพินัยกรรม ผู้คัดค้านย่อมเป็นทายาทตามพินัยกรรมของผู้ตายและมีสิทธิยื่นคำคัดค้าน