โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317, 319
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 319 วรรคแรก เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำนวนสี่กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 16 ปี ฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำนวนสี่กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 20 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย จำคุก 2 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุก 38 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 17 ปี 24 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคแรก ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำนวนสี่กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวมจำคุก 8 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำอันเป็นการพรากเด็กนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปกระทำชำเราในบริเวณต่าง ๆ ในโรงเรียน โดยเมื่อหลังจากกระทำชำเราแล้วจำเลยก็มิได้ควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 2 ไว้ ก็ถือเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคแรก เห็นว่า การกระทำอันปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคแรก นั้น ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนนั้น จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนี้ แม้หลังถูกกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และฐานพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองจนเป็นที่พอใจ และผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ขณะเป็นเด็กและอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะยินยอมก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอันดี ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล โดยเฉพาะจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการสอนในโรงเรียนที่ผู้เสียหายที่ 2 เรียนอยู่ แม้ไม่ได้สอนหนังสือ แต่ก็อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ มีหน้าที่อบรมสั่งสอนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กในโรงเรียนปฏิบัติตาม แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม กลับเป็นฝ่ายทำลายอนาคตของผู้เสียหายที่ 2 เสียเอง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น