โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 336 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนของสร้อยคอทองคำ 56,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นางสาวกิตสินีย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ต่อครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 26,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ข้อหาอื่นให้ยก และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกกับไม่คุมความประพฤติของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 116,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฏีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมและจำเลยต่างขับรถไปรับบุตรซึ่งเลิกเรียนที่โรงเรียน น. หลังจากรับบุตรแล้ว ขณะโจทก์ร่วมขับรถกระบะยี่ห้อ อีซูซุ แบบ 4 ประตู ส่วนจำเลยขับรถยนต์ ยี่ห้อ มิตซูบิชิ รุ่น ปาเจโร เพื่อออกจากลานจอดรถของโรงเรียนได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้น จากนั้นจำเลยลงจากรถเข้าไปทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมด้วยการตบและข่วนที่ใบหน้าและหน้าอก เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายมีบาดแผลถลอกเป็นรอยแดงยาว ระหว่างถูกจำเลยทำร้าย สร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท พร้อมเหรียญกรมหลวงชุมพรฯ เลี่ยมทองคำที่โจทก์ร่วมสวมอยู่ที่คอขาดและกรอบเหรียญเลี่ยมทองคำแตกหักตกอยู่ที่พื้นบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมานายวิทูร ครูของโรงเรียนดังกล่าวนำไปมอบพนักงานสอบสวน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า จำเลยกระชากโจทก์ร่วมลงจากรถแล้วทำร้ายร่างกาย โดยโจทก์ร่วมเพียงแต่ใช้มือปัดป้อง ไม่ได้สมัครใจร่วมทะเลาะวิวาทกับจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย เท่ากับเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย โดยโจทก์ร่วมประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเป็นไปดังที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเช่นนี้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กรณีต้องถือว่าปัญหาข้อนี้ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในส่วนนี้ แล้วพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และพิพากษาแก้โทษในความผิดฐานดังกล่าวเป็นจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ได้ พิจารณาฎีกาส่วนนี้ของจำเลยแล้ว เห็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องโจทก์เป็นความผิดคนละกรรมกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เมื่อโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ชิ้นส่วนสร้อยคอทองคำตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า ขณะถูกจำเลยทำร้ายตบตี โจทก์ร่วมรู้สึกแสบที่บริเวณลำคอจึงจับที่คอพบว่าสร้อยคอทองคำพร้อมเหรียญกรมหลวงชุมพรฯ เลี่ยมทองคำหายไป โจทก์ร่วมมองบริเวณพื้นและที่จำเลย เห็นสร้อยคอทองคำพร้อมเหรียญดังกล่าวอยู่ที่มือข้างซ้ายของจำเลยซึ่งแนบไว้ที่ลำตัว โจทก์ร่วมขอคืนจากจำเลย แต่จำเลยพูดว่า กูไม่ให้ ถ้าจะเอาคืนเดี๋ยวกูตบ โจทก์ร่วมจึงกลับขึ้นรถไป และมีเด็กหญิงนาตาชา บุตรสาวของโจทก์ร่วมซึ่งนั่งอยู่ในรถของโจทก์ร่วมด้านหน้าคู่คนขับเบิกความว่า เห็นจำเลยกำสร้อยคอของโจทก์ร่วมที่มือข้างซ้าย ได้ยินโจทก์ร่วมบอกจำเลยให้เอาสร้อยคอทองคำคืนมา แต่จำเลยไม่ให้ และบอกว่าถ้าจะเอาก็จะตบ โจทก์ร่วมจึงรีบวิ่งหนีขึ้นมาบนรถ แต่ความข้อนี้นายพชรภค ประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในรถของโจทก์ร่วมด้วยกลับเบิกความว่า หลังจากมีคนมาแยกโจทก์ร่วมและจำเลยมิให้ทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมกลับขึ้นมานั่งบนรถ เห็นบริเวณลำคอของโจทก์ร่วมมีบาดแผล ขณะนั้นโจทก์ร่วมยังไม่ทราบว่าสร้อยคอทองคำขาด จนในระหว่างทางที่พูดคุยกัน โจทก์ร่วมรู้สึกตัวว่าสร้อยคอทองคำหายไป พยานจึงบอกโจทก์ร่วมว่าเห็นจำเลยกำสร้อยคอทองคำมีส่วนของสร้อยโผล่มาเล็กน้อย ซึ่งแตกต่างกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมและเด็กหญิงนาตาชาในข้อสาระสำคัญ ทำให้มีข้อสงสัยว่าประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากได้เห็นสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมอยู่ในมือของจำเลยจริงหรือไม่ นอกจากนี้ระหว่างที่โจทก์ร่วมทะเลาะตบตีกับจำเลย มีนายสุวัฒน์ คนขับรถรับส่งเด็กนักเรียน และนายวิทูร ครูโรงเรียน น. เข้ามาห้ามให้แยกจากกัน โดยคู่ความแถลงยอมรับข้อเท็จจริงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ว่านายสุวัฒน์และนายวิทูรได้ให้การในชั้นสอบสวน จากคำให้การดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้พูดขอคืนสร้อยคอทองคำจากจำเลยแต่อย่างใด คงได้ความเพียงว่าหลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมรีบขึ้นรถขับออกไปจากโรงเรียนทันที ส่วนจำเลยขับรถไปจอดพูดคุยกับนายสุวัฒน์อยู่ใกล้ทางออกของโรงเรียน นายวิทูรสังเกตเห็นชิ้นส่วนสร้อยคอทองคำกับเหรียญกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งกรอบทองคำแตกหักตกอยู่บนพื้นบริเวณที่เกิดเหตุจึงนำไปสอบถามจำเลย แต่จำเลยบอกว่าไม่ใช่ของตนและไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด นายวิทูรจึงนำไปมอบให้พนักงานสอบสวน สนับสนุนให้เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมมิได้รู้ตัวว่าสร้อยคอทองคำของตนขาดหลุดในขณะที่ทะเลาะวิวาทกับจำเลยและไม่ได้พูดขอคืนจากจำเลย เนื่องจากได้ความจากโจทก์ร่วมว่าสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท มีราคาประมาณ 70,800 บาท ส่วนเหรียญกรมหลวงชุมพรฯ เลี่ยมทองคำมีราคาประมาณ 18,000 บาท นับเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง หากโจทก์ร่วมทราบว่าสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมขาดและเห็นอยู่ในมือของจำเลยจริง โจทก์ร่วมย่อมต้องรีบทวงถามเอาคืนจากจำเลยทันทีก่อนที่จะกลับไปขึ้นรถ เพราะในขณะนั้นทั้งนายสุวัฒน์และนายวิทูรก็ยังอยู่ในที่เกิดเหตุ ยากที่จำเลยจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วมหรือทำร้ายโจทก์ร่วมได้อีก ข้อนี้ยังจะเห็นได้จากในวันเดียวกันนั้นหลังจากเกิดเหตุโจทก์ร่วมไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยโดยกล่าวถึงพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยเพียงว่า จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและกระชากสร้อยคอทองคำที่อยู่ที่คอขาดและสูญหายไป หาได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้เอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมที่ขาดหลุดไปไม่ ใช่แต่เท่านั้น โจทก์ร่วมยังเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมไว้อีกตอนหนึ่งว่า ในวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุ เมื่อโจทก์ร่วมไปรับบุตรสาวที่โรงเรียน โจทก์ร่วมไปสอบถามครูที่ประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุว่ามีผู้ใดพบเห็นสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมที่ขาดตกอยู่ที่พื้นบ้างหรือไม่ ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าโจทก์ร่วมไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนเอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมไป ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้เอาไป พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้เอาชิ้นส่วนสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนสร้อยคอทองคำที่สูญหายไปเป็นเงิน 56,000 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ นั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาไม่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 คดีนี้ คดีส่วนอาญาสำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่อาจขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์คดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจมีจำนวนเกิน 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในคดีส่วนแพ่ง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นเงินรวม 60,000 บาท และคดีส่วนอาญาในความผิดฐานนี้ไม่อาจขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ สิทธิในการฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 ที่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสองที่บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกาให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." แต่จำเลยยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในส่วนนี้ของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีส่วนอาญาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนด ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะส่วนที่ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ กับส่วนที่พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนสร้อยคอทองคำ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ