โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 353, 354 กับให้จําเลยคืนเงิน 367,485.39 บาท และรถยนต์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 8 ปี จําเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจําคุก 4 ปี กับให้จําเลยคืนเงิน 367,485.39 บาท และรถยนต์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวม 2 กระทง คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยกับผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามตกลงกันตามสำเนาบันทึกข้อตกลง ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ ในข้อนี้ได้ความตามสำนวนว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้งนายอำพล เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่นายอำพลถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้งนางน้อย เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสามและให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม จากนั้นนางน้อยและจำเลยทำบันทึกข้อตกลงขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ จำเลย นางน้อย และนายธีระชัย พนักงานคุมประพฤติชำนาญการรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 ว่า นางน้อยทำบันทึกข้อตกลงขอถอนคำร้องทุกข์กับจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูและไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภู เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และมาตรา 354 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์อันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) นั้นต้องเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อสิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้งนางน้อยเป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่นางน้อยกลับเข้าทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ อันเป็นการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นการไม่ชอบ การแสดงเจตนาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่นางน้อยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน