ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ชม.92/2563 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ชม.129/2563 ที่ชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดในกรมธรรม์ในกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่ผู้คัดค้านเสร็จสิ้น และให้สงวนสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมไว้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัย ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดดังกล่าว โดยคดีนี้ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้คัดค้านโดยสารซ้อนท้ายเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องตัดขาขวา หลังเกิดเหตุผู้คัดค้านเรียกร้องค่าทดแทนจากผู้ร้อง ผู้ร้องพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีทุพพลภาพถาวรเป็นเงิน 300,000 บาท เต็มวงเงินความคุ้มครองให้ผู้คัดค้านแล้ว สำหรับในส่วนค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองเฉพาะภัยซึ่งมีวงเงินความคุ้มครองเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่เกิน 500,000 บาท นั้น ผู้ร้องเห็นว่าความเสียหายที่แท้จริงของผู้คัดค้านไม่เกิน 200,000 บาท ผู้คัดค้านปฏิเสธและยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำชี้ขาดจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ผู้คัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านมาขอเบิกค่าทำขาเทียมจากผู้ร้อง ผู้ร้องปฏิเสธการชดใช้ค่าขาเทียมดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า ตามคำชี้ขาดวินิจฉัยให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่าขาเทียมเป็นเงิน 245,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายที่แท้จริงสำหรับอุปกรณ์ขาเทียมให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว การที่คำชี้ขาดยังให้สงวนสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมไว้เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ซ้ำซ้อนเกินความเสียหายที่แท้จริงทั้งยังเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์ประกันภัย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และขอให้บังคับตามคำชี้ขาด ให้ผู้ร้องจ่ายค่าจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาค 1 (เชียงใหม่) ในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ชม.129/2563 เฉพาะในข้อเกี่ยวกับการให้สงวนสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมไว้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัย ส่วนข้อความอื่นให้คงไว้ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า กรณีต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคสอง จึงคืนสำนวนให้ศาลชั้นต้นเพื่อส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ ในประเภทประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย มีวงเงินความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่เกิน 500,000 บาท ต่อคน กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่เกิน 1,000,000 บาท ต่อครั้ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 อันอยู่ในระยะเวลาความคุ้มครองประกันภัย ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์คันดังกล่าวเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ซึ่งผู้คัดค้านโดยสารซ้อนท้าย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องตัดขาข้างขวาใต้เข่าจนเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวร หลังเกิดเหตุผู้คัดค้านเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ร้อง ผู้ร้องพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีทุพพลภาพถาวรเต็มวงเงินความคุ้มครองเป็นเงิน 300,000 บาท และผู้คัดค้านได้รับเงินส่วนดังกล่าวแล้ว สำหรับในส่วนค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองเฉพาะภัยซึ่งมีวงเงินความคุ้มครองเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่เกิน 500,000 บาท นั้น ผู้ร้องเห็นว่าความเสียหายที่แท้จริงของผู้คัดค้านไม่เกิน 200,000 บาท ผู้คัดค้านปฏิเสธ วันที่ 19 มิถุนายน 2563 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ขอให้ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้คัดค้านตามสัญญาประกันภัยภาคสมัครใจเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ชม.92/2563 ตามสำเนาคำเสนอข้อพิพาท วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านต่อสู้ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายและรับผิดไม่เกินวงเงินตามกรมธรรม์ คือ 500,000 บาท วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้ร้องต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยายาล 613,401 บาท ค่าขาเทียม 245,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ 14,400 บาท ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 200,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ในปัจจุบันและอนาคต 480,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,552,801 บาท ผู้คัดค้านรับว่าได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับจากผู้ร้องแล้ว 300,000 บาท จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องต้องชำระ 1,253,801 บาท แต่ผู้คัดค้านเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียง 1,000,000 บาท และความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัยกำหนดให้ผู้ร้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเงิน 500,000 บาท ต่อคน จึงมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดในกรมธรรม์ในกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่ผู้คัดค้านเสร็จสิ้น และให้สงวนสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมไว้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัย ตามสำเนาคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ชม.129/2563 โดยผู้คัดค้านและผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดดังกล่าวแล้วในวันที่ 31 มีนาคม 2564 และวันที่ 5 เมษายน 2564 ตามลำดับ วันที่ 28 เมษายน 2564 ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำชี้ขาดดังกล่าว รวมเป็นเงิน 564,315.07 บาท แก่ผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ผู้คัดค้านขอให้ผู้ร้องจ่ายค่าทำขาเทียมจำนวน 245,000 บาท ผู้ร้องปฏิเสธอ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินคุ้มครองสูงสุดให้ผู้คัดค้านแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคำร้องนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้แล้วว่าความรับผิดของผู้ร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัยกำหนดให้ผู้ร้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเงิน 500,000 บาท ต่อคน การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ดังกล่าวเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแล้ว แต่ยังให้สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมอีกเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ไว้เป็นเงิน 245,000 บาท ย่อมมีผลให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคท้าย ที่ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง ที่ไม่ให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญา ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อคดีได้ความว่า ภายหลังจากมีคำชี้ขาดผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำชี้ขาด และผู้คัดค้านได้รับเงินส่วนดังกล่าวไปแล้ว กรณีย่อมต้องถือว่าผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้คัดค้านเต็มวงเงินคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันภัยแล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้มีการสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันมีคำวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยในทำนองให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยตามสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าวงเงินความรับผิดซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ซึ่งออกตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยหรืออ้างถึงคำสั่งดังกล่าวดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ทั้งคำสั่งดังกล่าวที่ผู้คัดค้านนำสืบนั้น เป็นเพียงการให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฯลฯ ย่อมไม่อาจตีความให้มีผลขัดต่อกฎหมายได้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์มาด้วยในตอนท้าย ขอให้บังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดโดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 อันเป็นวันที่ผู้ร้องผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น หลังจากรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและขอให้บังคับตามคำชี้ขาด โดยในตอนท้ายคำคัดค้านผู้คัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้ร้องจ่ายค่าขาเทียมจำนวน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเฉพาะคำคัดค้าน โดยไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของผู้คัดค้าน และไม่ได้วินิจฉัยในส่วนคำร้องของผู้คัดค้านไว้ในคำพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะตรวจดูคำคัดค้านและคำร้องนั้น แล้วมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านอย่างเดียว โดยยังไม่มีคำสั่งคำร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตามเมื่อคำชี้ขาดที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนกับคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับตามนั้นเป็นคำชี้ขาดฉบับเดียวกัน ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างได้นำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายตนจนเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าว คงอุทธรณ์เพียงขอให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยกคำร้องของผู้ร้อง และบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมเท่านั้น ทั้งประเด็นสำคัญที่ได้โต้แย้งกันในคดีนี้ก็มีเพียงว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในทางคดี การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากจะทำให้คู่ความต้องเสียเวลามากขึ้น กรณีจึงไม่สมควรแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้น ส่วนที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมนั้น เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้วว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้มีการสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนขาเทียมเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันมีคำวินิจฉัยนั้นจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีย่อมไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ส่วนในนี้อีกต่อไปเพราะถึงอย่างไรก็ไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนดังกล่าวได้
อนึ่ง คดีนี้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในส่วนคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาจำนวน 1,125 บาท ในวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งคำร้องในส่วนดังกล่าว จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในส่วนดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะในข้อเกี่ยวกับการให้สงวนสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาเทียมไว้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัย ส่วนข้อความอื่นให้คงไว้ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกันโดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ทุนทรัพย์ในส่วนที่พิพาทกันตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเท่ากับ 245,000 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ตามตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกรณีขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศหรือขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศให้เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 0.5 ของจำนวนที่ร้องขอให้ศาลบังคับ หรือเท่ากับ 1,225 บาท แต่ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา 4,900 บาท สูงกว่าค่าขึ้นศาลที่ผู้คัดค้านต้องชำระ จึงสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่ผู้คัดค้าน
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ 3,675 บาท แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ