โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 13,408,844 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,111,112 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 13,111,112 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554) ต้องไม่เกิน 297,732 ตามคำขอของโจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ระหว่างระยะเวลาฎีกา กระทรวงการคลังยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า "จำเลยปกปิดข้อความจริงหรือนิ่งเสียไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและเป็นกลฉ้อฉลลวงโจทก์เพื่อการลงทุนถึงขนาดให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อจะขายและถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ทราบความจริง โจทก์จะไม่ทำสัญญาจะซื้อจะขายเพราะโจทก์ไม่สามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตจัดสรรจัดจำหน่ายและทำกำไรได้ตามวัตถุประสงค์" ซึ่งพอแปลเป็นใจความได้ว่า โจทก์ถูกกลฉ้อฉลและโจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อขายว่าสามารถดำเนินการขออนุญาตจัดสรรได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้เพียงว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดจากกลฉ้อฉลไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยต้องรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์หรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ แล้ววินิจฉัยเพิ่มเติมไปว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยโดยสำคัญผิดว่าสามารถนำที่ดินไปขออนุญาตจัดสรรได้ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาที่โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่จะซื้อจะขายซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆียะนั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศขายที่ดินพิพาทผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในส่วนหมายเหตุมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า "ผู้สนใจควรจะต้องตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารสิทธิหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือประเด็นอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตรงตามความประสงค์และเป็นที่พึงพอใจก่อนการตัดสินใจ" และในหน้าเดียวกันตอนท้ายก็ยังมีข้อความว่า "ผู้สนใจเสนอซื้อทรัพย์สินของ บสท. ต้องศึกษาและเข้าใจข้อมูลและเงื่อนไขการซื้อขายทรัพย์สินอย่างละเอียดก่อนแจ้งความประสงค์เสนอซื้อ" นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของจำเลยก็ได้มอบแผนผังที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนถึงที่ดินที่จะซื้อจะขายและที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นของบุคคลภายนอก ประกอบกับตามสัญญาจะซื้อจะขายในภาคผนวก ก. เงื่อนไขและข้อกำหนด (สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน) ข้อ 3.1 ก็ระบุว่า "ก่อนทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้เข้าตรวจดูทรัพย์สินที่จะซื้อขายแล้ว เห็นว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยตรงตามความประสงค์ในการซื้อขายและเป็นที่พึงพอใจของผู้จะซื้อและผู้จะซื้อตกลงว่าจะมิยกเอาเหตุความไม่สมบูรณ์ ความชำรุดบกพร่อง ความเสียหาย สูญหายของทรัพย์สินที่จะซื้อขายใด ๆ ไม่ว่าจะเห็นก่อนและ/หรือภายหลังวันทำสัญญานี้หรือไม่ก็ตามขึ้นเป็นเหตุเรียกร้องค่าเสียหาย ยกเลิกสัญญา หรือปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบใด ๆ ที่ผู้จะซื้อมีอยู่ต่อผู้จะขายตามสัญญานี้ทั้งสิ้น" โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยจงใจปกปิดข้อเท็จจริงใด ๆ ตรงกันข้ามกลับปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ทำการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและทรัพย์สินที่จะซื้อทั้งก่อนหน้านี้โจทก์เคยซื้อที่ดินจากจำเลยถึง 2 ครั้ง โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จำเลยย่อมไม่ทราบรายละเอียดของที่ดินที่จะขายว่ามีคุณสมบัติอย่างไรและโจทก์ต้องการที่ดินที่มีคุณสมบัติเช่นไร ประกอบกับที่ดินที่จะซื้อจะขายมีจำนวนถึง 390 แปลง เนื้อที่ดินรวม 32 ไร่ 1 งาน 36.4 ตารางวา และมีราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายสูงถึง 65,555,555 บาท จึงย่อมจะต้องเป็นเรื่องของโจทก์ในการตรวจสอบที่ดินที่จะซื้อจะขายว่า มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สนใจที่จะตรวจสอบทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของโจทก์เองประกอบกับจำเลยก็ได้ให้คำเตือนให้โจทก์ต้องตรวจสอบ แต่โจทก์กลับไม่นำพา จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ โจทก์จะถือเอาความสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อจะขายนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย สัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆียะนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจมาฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 60,000 บาท