โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341,343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7,27 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4,30, 82 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 438,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายสนิท บำรุงไทย นายสมคิด ศรีชมชื่นนายสุบิน แนวโอโล นายดา นิลพงษ์ นายโอเลี้ยง อาจวงศ์นายศิริชัย รัศมีจันทร์ นายสุดิน พรมเมตตา นายหลวง ประวันทศรีนายเสน่ห์ กระลาม และนายอ่อน ชัยเหนือ ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ 91 ลงโทษฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน ฐานฉ้อโกงประชาชน 5 กรรม จำคุกกรรมละ 2 ปี เป็นจำคุก 10 ปี รวมโทษทั้งหมดจำคุก 10 ปี 1 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องเสียหายตามฟ้อง รวมเป็นเงิน 438,000 บาท นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกเพียงกรรมเดียว ลงโทษสำหรับความผิดฐานนี้ จำคุก 2 ปี รวมกับโทษฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 2 ปี 1 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในกระทงความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มีกำหนด 1 เดือน และลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343รวม 5 กระทง จำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว และลงโทษจำคุกจำเลยในกระทงความผิดนี้มีกำหนด 2 ปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก และวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นคนรับสมัครไปทำงานและรับเงินค่าบริการจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมานั้นฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ว่า จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ทั้งมิได้รับเงินไว้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และขอให้ศาลฎีการับฟังพยานเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยส่งมาพร้อมฎีกา และขอให้รอการลงโทษไว้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายที่กล่างข้างต้นปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมกันหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลย ภริยาจำเลย นายแพงตา และนายเดชต่างได้แยกย้ายกันออกไปชักชวนผู้เสียหายให้มาสมัครงานกับจำเลยโดยหลอกลวงว่าจำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศได้ ผู้เสียหายแต่ละคนหลงเชื่อจึงสมัครงานกับจำเลย และมอบเงินค่าบริการตามที่จำเลยเรียกร้องให้แก่จำเลย ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวจำเลยได้กระทำในวันเวลาที่แตกต่างกันรวม 5 ครั้ง และแต่ละครั้งจำเลยได้หลอกลวงประชาชนต่างกลุ่มกัน และผู้เสียหายแต่ละกลุ่มก็มาสมัครงานและมอบเงินแก่จำเลยต่างวันเวลากัน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยหลอกลวงประชาชนรวม 5 กลุ่ม ในวันเวลาที่แตกต่างกันเช่นนี้ เห็นได้ว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาให้เกิดผลต่อประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน อันนับว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนรวม5 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343 วรรคแรก รวม 5 กระทง จำคุกกระทง 2 ปี สำหรับความผิดฐานนี้รวมจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.