โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (6), 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จะปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 214/2545 ของศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่จากการตรวจสอบของพนักงานคุมประพฤติได้รายงานให้ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเคยรับตัวจำเลยไว้คุมขังในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป คดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติให้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดที่ได้กระทำไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฉบับนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าความผิดของจำเลยคดีนี้เกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ขับรถตัดโค้งล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตาย และได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยประกอบกับฎีกาของจำเลยซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้านว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้หลบหนีโดยอยู่รอมอบตัวต่อเจ้าพนักงานในที่เกิดเหตุ ทั้งจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติของผู้ตายก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ตามพฤติการณ์แห่งคดี จึงมีเหตุสมควรปรานีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและจำเลยยิ่งกว่าลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดมาตรการในการคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท สำหรับโทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9