โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 843 และ 845 ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกึ่งหนึ่ง หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวไปยื่นขอแบ่งแยกแก่โจทก์แปลงละกึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดนำเงินแบ่งแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกับโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหิรัญนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 843 และ 845 ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แบ่งให้แก่โจทก์ 1 ใน 9 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยหรือขายทอดตลาดนำเงินให้แก่โจทก์ 1 ใน 9 ส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยรับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่บุตรของจำเลยทั้งเจ็ดคนทำหลักฐานการไม่ขอรับโอนมรดก เป็นผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกตามฟ้องเพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นการที่บุตรของจำเลยกับนายหิรัญทั้งเจ็ดคนไปให้ถ้อยคำโดยทำหลักฐานเป็นหนังสือแจ้งโดยชัดแจ้งไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยระบุให้โอนมรดกส่วนของตนให้แก่จำเลยไว้ต่อนายสุเมธเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี และนายสุเมธได้ลงนามในช่องพนักงานเจ้าหน้าที่โดยประทับตราระบุตำแหน่งว่า เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอตามหลักฐานการไม่ขอรับโอนมรดก ซึ่งนายอำเภอสวีมีอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการประจำอยู่ในอำเภอสวีปฏิบัติราชการแทนได้ ดังนั้นที่บุตรของจำเลยกับนายหิรัญทั้งเจ็ดคนไปแจ้งดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่การที่ระบุด้วยว่าให้โอนมรดกส่วนของตนให้แก่จำเลย ทำให้การจัดแบ่งทรัพย์มรดกไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการทำโดยมีเงื่อนไขต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613 เป็นผลให้ไม่เป็นการสละมรดกโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตามบันทึกหลักฐานการไม่ขอรับโอนมรดก มีทั้งบุตรของจำเลยทั้งเจ็ดคนผู้ให้ และจำเลยผู้รับลงลายมือชื่อไว้มีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกกันย่อมผูกพันคู่สัญญามีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และ 1750 เมื่อนำทรัพย์มรดกในส่วนที่จำเลยได้รับจากบุตรทั้งเจ็ดคนรวมกับส่วนของจำเลยเองแล้ว จำเลยมีส่วนได้ที่ดินมรดกตามฟ้อง 8 ใน 9 ส่วน สำหรับโจทก์มีส่วนได้รับ 1 ใน 9 ส่วน ซึ่งเท่ากับที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น...
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ