โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 334
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (ที่ถูก 334 (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยเป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของโจทก์กับนายประมวล ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 บัญญัติว่า "ความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334... ถ้าเป็นการกระทำที่...ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้..." ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาลภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาให้เหตุผลโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง เป็นเพียงเหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัวเนื่องจากความเป็นญาติ ไม่ได้หมายความว่าความผิดฐานลักทรัพย์จะเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจนแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และความผิดฐานยักยอก โจทก์จึงไม่ต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับบุคคลที่กระทำความผิดและผู้ถูกกระทำที่มีความสัมพันธ์กันในครอบครัวทางสายโลหิตโดยตรง เพื่อประสงค์ให้สามารถปรองดองและให้อภัยแก่กันได้ เมื่อมีการกระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานเกิดขึ้นในครอบครัว ต่อมาภายหลังให้อภัยแก่กันแล้วสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ หาใช่เหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัวดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก และหากแปลกฎหมายอย่างที่โจทก์แก้ฎีกาจะขัดกันเองอย่างเห็นได้ชัด เพราะความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และความผิดฐานยักยอก มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งหากไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เหตุใดเมื่อนำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 71 วรรคสอง ให้ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงจะไม่ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เหตุผลตามคำแก้ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง แม้ความผิดของจำเลยจะเข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน