โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธรรมรงค์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงิน 24,500 บาท ค่าขาดรายได้เป็นเงิน 69,800 บาท และค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 244,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (4) (8) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้นายธรรมรงค์ ผู้เสียหาย เข้าร่วมเป็นโจทก์กับรับคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมในความผิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จำคุก 1 เดือน และปรับ 900 บาท เมื่อลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 20 วัน และปรับ 600 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มีนาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลาว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจวิวาทกัน และโจทก์ร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแขวงสงขลาไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีตามที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เดินเข้าไปที่รถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมพร้อมตะโกนถามว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ แสดงว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่รู้ว่าโจทก์ร่วมนั่งอยู่ในรถยนต์กระบะ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าขณะเกิดเหตุสามารถมองเห็นเหตุการณ์จากแสงไฟที่ส่องสว่างจากรถยนต์ของโจทก์ร่วม รถยนต์ของจำเลยที่ 1 และแสงไฟหน้าบ้านของนางสุจินต์ ประกอบกับวันเกิดเหตุเป็นคืนเดือนหงาย ดังนี้ โจทก์ร่วมย่อมเห็นจำเลยที่ 1 เดินมาที่รถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมให้การตามบันทึกคำให้การว่า โจทก์ร่วมเปิดประตูรถและไฟในกระบะห้องโดยสารสว่างขึ้น จำเลยที่ 1 กับพวกเห็นหน้าจึงจำได้ว่าเป็นโจทก์ร่วม ประกอบกับโจทก์ร่วมฎีการับว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมลดกระจกและเปิดประตูรถจริง เชื่อว่าขณะที่จำเลยที่ 1 เดินไปถึงรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมนั้น โจทก์ร่วมลดกระจกรถและเปิดประตูรถแล้ว จึงทำให้จำเลยที่ 1 เห็นโจทก์ร่วมนั่งอยู่ในรถโดยอาศัยแสงไฟจากภายในรถ นอกจากนี้โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า จำเลยทั้งสองโกรธเคืองโจทก์ร่วมโดยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมชอบไปพูดเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวของจำเลยทั้งสอง แสดงว่าโจทก์ร่วมย่อมมีความไม่พอใจจำเลยที่ 1 อยู่เช่นกัน เมื่อโจทก์ร่วมเห็นจำเลยที่ 1 เดินมาที่รถยนต์กระบะของโจทก์ร่วม และเมื่อจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ร่วมนั่งอยู่ในรถยนต์กระบะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พูดว่า ไอ้เปรตนี้หรือกูหาตัวมานานแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมต้องด่าโต้เถียงกับจำเลยที่ 1 แม้นางสุจินต์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุไม่ได้ยินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 พูดกันก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของนางสุจินต์ว่า ขณะเกิดเหตุนางสุจินต์ยืนอยู่บริเวณหน้ารถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมห่างจากจุดที่จำเลยที่ 1 ยืนประมาณ 2 เมตร ระยะห่างดังกล่าวนางสุจินต์ย่อมต้องได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 1 ที่พูดกับโจทก์ร่วมดังที่โจทก์ร่วมเบิกความ นางสุจินต์กลับเบิกความว่าไม่ได้ยินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 พูดกัน ส่อให้เห็นว่านางสุจินต์เบิกความเพื่อช่วยเหลือโจทก์ร่วม คำเบิกความของนางสุจินต์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมมีสาเหตุกันมาก่อนแล้วจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายลงมือชกต่อยโจทก์ร่วมโดยผ่านช่องกระจกรถก่อน โจทก์ร่วมย่อมต้องตอบโต้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าโจทก์ร่วมใช้ประตูรถกระแทกจำเลยที่ 1 และออกจากรถไปชกต่อยกับจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความ พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมดังวินิจฉัยข้างต้นฟังได้ว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน