โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,700,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายประหยัด บุญสิริโสภาพันธ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนเพชรตามฟ้องหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,700,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยได้ทำการค้าขายเพชรด้วยกัน และโจทก์ร่วมยังเป็นหนี้จำเลย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยได้รับมอบเพชรจำนวน 1 เม็ด หนัก 8.15 กะรัต ไปจากโจทก์ร่วม เพื่อให้จำเลยนำไปขาย ถ้าขายไม่ได้ให้นำมาคืนภายใน 3 วัน จำเลยขายเพชรได้แล้วแต่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเพชรให้โจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นการหักหนี้ของโจทก์ร่วมเห็นว่า การที่โจทก์ร่วมมอบแหวนเพชรให้จำเลยไปจำหน่าย จำเลยจะต้องนำเงินมาชำระค่าแหวนเพชรตามที่ได้ตกลงกันกรณีมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับแหวนเพชรไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมให้นำไปจำหน่าย แม้เมื่อถึงกำหนดชำระราคา จำเลยไม่นำเงินไปชำระให้โจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ถึงแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ร่วมอีกต่อไป"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์