โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินมัดจำและค่าสินค้าในส่วนที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 45,752,197 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจและค่าขาดกำไรจากการขายสินค้า 30,000,000 บาท และร่วมกันชำระค่าปรับตามสัญญา 22,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 60,905,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 43,428,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,428,200 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2561 ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2562 ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2562 และของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายและเบี้ยปรับตามฟ้อง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้ง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 43,428,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2562) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีผลบังคับ แต่ดอกเบี้ยทุกช่วงเวลาให้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายสินค้าคือวัสดุอุปกรณ์ตามข้อ 12.3.2 ค. ของสัญญาจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วพร้อมดำเนินการรื้อถอนซึ่งเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ผ. เพื่อรื้อถอนโรงงานผลิตแคลไซน์ของบริษัท ผ. ที่พิพาทซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม ผ. ในราคา 112,000,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำซื้อสินค้า 5,000,000 บาท โดยชำระเป็นเช็คธนาคาร ก. ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2561 โจทก์วางเงินมัดจำเพิ่มเติมอีก 17,000,000 บาท โดยชำระเป็นเช็คของธนาคาร ส. จากนั้นวันที่ 20 ตุลาคม 2561 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาวางมัดจำซื้อสินค้า/ซื้อสินค้าและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน สัญญาวางมัดจำซื้อสินค้า/ซื้อสินค้ามีข้อตกลงในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า เมื่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงงานพิพาทได้ จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วโจทก์ต้องนำสินค้าออกจากสถานที่รื้อถอนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และข้อ 4 ระบุว่า โจทก์จะต้องวางเงินค่าสินค้าแก่จำเลยทั้งสองเป็นงวดรวม 3 งวด งวดละ 30,000,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองมีหนังสือแจ้งการอนุญาตให้รื้อถอนโรงงานพิพาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้โจทก์ทราบ ในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ว. ให้รื้อถอนโรงงานพิพาท ในการดำเนินการตามสัญญาจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้นายเรวัตร์ เป็นผู้ควบคุมงาน ส่วนบริษัท ผ. แต่งตั้งให้นายธวัชชัย เป็นผู้ควบคุมงาน โจทก์นำเช็คมาชำระค่าสินค้างวดที่ 1 แก่จำเลยที่ 1 โดยทยอยชำระจนครบ 30,000,000 บาท ในวันที่ 3 มกราคม 2562 ส่วนการชำระค่าสินค้างวดที่ 2 นั้น โจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระให้จำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาการทำงานไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 และผ่อนเวลาการชำระค่าสินค้างวดที่ 2 ให้โจทก์ โจทก์นำเงินมาชำระให้จำเลยที่ 1 เพียง 10,000,000 บาท โดยใช้เวลาชำระเงินประมาณ 4 เดือน โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าได้รับสินค้าในงวดที่ 1 และที่ 2 ไม่ครบถ้วนตามสัญญา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จำเลยที่ 1 ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุดเพื่อเป็นหลักฐานในการเลิกสัญญากับโจทก์และเพื่อไม่ให้โจทก์เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตามสัญญาดังกล่าวอีกต่อไป คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเลิกสัญญา และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โรงงานพิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ผ. สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตแคลไซน์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ผ. แต่เลิกใช้งานผลิตแร่แคลไซน์แล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 บริษัท ผ. ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างโรงงานพิพาท มีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานรื้อถอน โดยกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กฎกระทรวงมหาดไทย กฎกระทรวงแรงงาน ข้อบังคับสภาวิศวกร ข้อบังคับสำหรับพื้นที่ควบคุมสำหรับท้องถิ่นหรือในเขตพื้นที่ควบคุมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นต้น จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประมูลและชนะการประกวดราคา วันที่ 10 เมษายน 2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างรื้อถอนโครงสร้างโรงงานพิพาทและรับซื้อเหมาวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วที่ได้จากการรื้อถอนกับบริษัท ผ. ในราคา 64,200,000 บาท ตามสัญญาจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วพร้อมดำเนินการรื้อถอน (ตรงกับสัญญาวางมัดจำซื้อสินค้า/ซื้อสินค้า) ในข้อ 3 ระบุให้สัญญามีผลบังคับใช้ 150 วัน นับแต่วันที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติให้จำเลยที่ 1 รื้อถอน และข้อ 4.3 ระบุให้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากการรื้อถอน จำเลยที่ 1 มีสิทธิขนย้ายออกจากโรงงานต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากบริษัท ผ. ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนโรงงานพิพาท จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการรื้อถอนโรงงานพิพาท ตามสรุปงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และตามแบบแผนการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 เสนอต่อบริษัท ผ. เยี่ยงนี้ แม้โรงงานพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 แต่สัญญาจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วพร้อมดำเนินการรื้อถอนออกไปจากโรงงานพิพาท ระหว่างบริษัท ผ. กับจำเลยที่ 1 เป็นการซื้อขายทรัพย์สินอย่างสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ซึ่งคู่สัญญากำหนดตัวทรัพย์และราคาจำเพาะเจาะจงลงไว้แน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในโรงงานพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2561 ที่ซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 และมาตรา 460 ข้างต้น โดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธินำโรงงานพิพาทไปขายต่อแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 โจทก์ทำสัญญาวางมัดจำซื้อสินค้าที่ได้จากการรื้อถอนตามข้อ 12.3 ค. ของสัญญาจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วพร้อมดำเนินการรื้อถอนซึ่งหมายถึงโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 ทำกับบริษัท ผ. ในราคา 112,000,000 บาท โดยวางมัดจำไว้ 5,000,000 บาท จึงเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งได้กำหนดตัวทรัพย์และราคาจำเพาะเจาะจงลงไว้แน่นอน และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามหลักกฎหมายข้างต้นดุจกัน อันก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ผลในทางทรัพย์กล่าวคือกรรมสิทธิ์ในโรงงานพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ทั้งวันที่ 20 ตุลาคม 2561 โจทก์วางมัดจำเพิ่มอีก 17,000,000 บาท ตามสัญญาวางมัดจำซื้อสินค้า/ซื้อสินค้ายิ่งเป็นพยานหลักฐานแสดงว่าสัญญาซื้อขายได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นหลักประกันที่โจทก์จะปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ในสัญญาฉบับนี้มีข้อตกลงชำระค่าโรงงานพิพาทส่วนที่เหลือ 90,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดละ 30,000,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องชำระเงินแต่ละงวดก่อนนำสินค้า (วัสดุอุปกรณ์) ที่รื้อถอนออกไป ผลประการที่สอง ในทางหนี้ตามหลักของสัญญาต่างตอบแทนกล่าวคือโจทก์ผู้ซื้อมีหนี้ที่เกี่ยวกับการชำระราคาและรับมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 1 ผู้ขายมีหนี้อันเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาซื้อขาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตรงกันว่า โจทก์ชำระเงินงวดแรก 30,000,000 บาท และขนวัสดุอุปกรณ์จำพวกสายไฟ หม้อแปลง ตู้คอนโทรลและมิเตอร์ออกไปแล้วตรงตามแบบแผนการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 เสนอต่อบริษัท ผ. ส่วนเมื่อรื้อถอนโรงงานพิพาทไปตามขั้นตอนแล้วจะได้วัสดุอุปกรณ์จำพวกสายไฟปริมาณหรือน้ำหนักเท่าใด โจทก์จะนำวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวไปขายแก่ผู้ใด ราคาเท่าใด ขาดทุนหรือกำไรมากน้อยเพียงใด เป็นสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยแท้ หาอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุแห่งปริมาณหรือน้ำหนักของสายไฟหรือราคาที่นำออกขายแล้วไม่ได้เงินตามที่โจทก์คิดคำนวณหรือคาดคะเนไว้ เป็นข้ออ้างไม่ชำระค่าสินค้าที่รื้อถอนจากโรงงานพิพาทงวดที่ 2 และที่ 3 ตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาซื้อขายแก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระเงินงวดที่ 2 จำนวน 30,000,000 บาท เพื่อขนย้ายวัสดุอุปกรณ์จำพวกเหล็กและอะลูมิเนียมต่อไป แต่โจทก์ชำระเงินงวดที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 เพียง 10,000,000 บาท ไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาซื้อขายอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคหนึ่ง การบอกเลิกสัญญาของโจทก์เป็นไปโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินมัดจำและค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 จักต้องวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกให้คืนเงินค่ามัดจำ ค่าสินค้าที่รื้อถอนจากโรงงานพิพาทตามสัญญาและค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้สำรองจ่ายแทนโจทก์ไป แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องก็ต้องวินิจฉัยฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ต่อไป ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่ตกไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้สำรองจ่ายแทนโจทก์ไปหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 สำรองจ่ายแทนโจทก์ในการรื้อถอนโรงงานพิพาทตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปแล้วเพียงใด และได้ความจากพยานโจทก์ปากนายยศวัฒน์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ว. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรื้อถอนโรงงานพิพาทว่า ตั้งแต่พยานเข้ารื้อถอนโรงงานในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 พยานได้รับเงินตามสัญญาจ้างงวดละ 1,200,000 บาท เพียง 3 งวดเท่านั้น การทำงานรื้อถอนมีปัญหาอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนได้ตามกำหนด เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่ต้องการให้พยานสามารถรื้อถอนได้อย่างเต็มที่ ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 4 เดือน ก็ยังไม่สามารถรื้อถอนได้ถึงร้อยละ 50 พยานจึงหยุดการทำงานและแจ้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า ส่วนที่ต้องรื้อถอนโรงงานที่เหลือให้บริหารจัดการเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ตามข้ออ้าง โจทก์จึงไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงงานพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ