คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ อ 378/2564 หมายเลขแดงที่ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 แต่คดีดังกล่าวได้ยุติลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยคู่ความไม่ได้ฎีกา คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 310, 317 นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 378/2564 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ว. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนางสาว ค. ผู้เสียหายที่ 1 มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง) และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย 60,000 บาท ค่าเสียหายต่อจิตใจ 60,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ 40,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท ค่าขาดรายได้ของผู้เสียหายที่ 1 ระหว่างอยู่ดูแลโจทก์ร่วมเป็นเงิน 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และในการย้ายโรงเรียนแห่งใหม่ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่ยื่นคำร้องวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในสำนวนแรกจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 และในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกและการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำนวนแรก ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังกับฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต สำนวนที่สอง ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 สำนวนแรก ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 4 ปี และฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน สำนวนที่สอง ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 4 ปี และฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว สำนวนแรก จำเลยที่ 1 จำคุก 37 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) สำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 จำคุก 37 ปี 4 เดือน ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 378/2564 หมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้นต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 377/2564 หมายเลขแดงที่ อ 1035/2564 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ว. โจทก์ร่วมอายุ 11 ปีเศษ เกิดวันที่ 4 มีนาคม 2552 เป็นบุตรของนาย ป. และนางสาว ค. ผู้เสียหายที่ 1 โดยพักอาศัยและอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของผู้เสียหายที่ 1 วันเกิดเหตุตามฟ้องเวลา 21.30 นาฬิกา นาย น. และนาย ส. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับโจทก์ร่วม เด็กหญิง น. และนางสาว ช. ที่ปากซอย แล้วพาไปนั่งเล่นที่บ้านของนาย ส. ซึ่งอยู่ในซอยหลังโรงเรียนอนุบาล ต่อมานาย ส. ขับรถจักรยานยนต์ออกไปแล้วกลับมาโดยมีนาย ณ. และจำเลยที่ 1 กับพวกมาด้วย จากนั้นเวลา 22.30 นาฬิกา นาย ณ. และจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง น. ภายในห้องนอนในลักษณะผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเรา ต่อมาคนร้ายสี่คนข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมในห้องเดียวกันโดยคนร้ายผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเรา แล้วคนร้ายทั้งหมดหลบหนีไป วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายที่ 1 และนาย ธ. บิดาของเด็กหญิง น. ทราบเรื่อง จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหัวหิน ร้อยตำรวจเอกหญิง ร. และพันตำรวจตรี ก. พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนส่งโจทก์ร่วมและเด็กหญิง น. ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ห. สำหรับความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคดีของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนว่ามีความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังและฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คู่ความไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนางสาว ช. เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าวันเวลาเกิดเหตุนาย น. และนาย ส. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับโจทก์ร่วม เด็กหญิง น. และนางสาว ช. หรือมายด์ไปที่บ้านที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมและนาย ส. ร่วมประเวณีกันที่ห้องโถง จากนั้นนาย ส. ขับรถจักรยานยนต์ออกไปสักพักก็กลับมาโดยมีจำเลยทั้งสอง นาย ณ. และนาย อ. ตามมาด้วย ทุกคนนั่งคุยกันที่ห้องโถง มีการเรียกชื่อเล่นกัน ต่อมานาย ณ. ฉุดกระชากเด็กหญิง น. เข้าไปในห้องนอน นางสาว ช. และโจทก์ร่วมจะเข้าไปช่วย แต่นาย น. และนาย ส. จับตัวไว้ นาย ณ. ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง น. จนสำเร็จความใคร่แล้วออกไป จากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง น. จนสำเร็จความใคร่ เด็กหญิง น. ไปล้างตัวในห้องน้ำและใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อเด็กหญิง อ. ผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ เพื่อให้มาช่วยเหลือ จากนั้นเด็กหญิง น. ออกจากห้องน้ำและชวนนางสาว ช. ออกจากบ้านที่เกิดเหตุไป ขณะเด็กหญิง น. ไปเข้าห้องน้ำจำเลยที่ 2 เข้ามาจับตัวโจทก์ร่วมดึงเข้าไปในห้องนอนโดยมีชายคนหนึ่งตามเข้าไปในห้องด้วย นางสาว ช. ไม่กล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวถูกฉุดเข้าไปด้วย จำเลยที่ 2 ผลักโจทก์ร่วมให้นอนบนที่นอนแล้วถอดเสื้อผ้าของโจทก์ร่วมออก จำเลยที่ 2 ถอดกางเกงและใช้อวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมและชักเข้าชักออกจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ขณะนั้นชายคนหนึ่งใช้มือปิดปากโจทก์ร่วมเพื่อไม่ให้ร้อง เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ออกไป โจทก์ร่วมยังคงนอนอยู่ จากนั้นนาย ส. นาย อ. และจำเลยที่ 1 เข้าไปผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเราโจทก์ร่วม โดยใช้อวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมและชักเข้าชักออกจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง เสร็จแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกหลบหนีไป โจทก์ร่วมไปล้างตัวในห้องน้ำแล้วกลับมาที่ห้องโถง ไม่พบผู้ใด จึงเดินไปที่หน้าปากซอย พบเด็กหญิง น. และนางสาว ช. ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับแจ้งเหตุจากเด็กหญิง อ. เดินทางไปพบโจทก์ร่วมกับพวก โจทก์ร่วมกับพวกจึงแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นว่า พยานทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 โดยไม่เป็นความจริง ขณะเกิดเหตุมีแสงจากภายนอกผ่านประตูหน้าต่างและช่องลมลอดเข้ามาภายในบ้านที่เกิดเหตุในสภาพสลัว ๆ พอมองเห็นหน้ากันได้ในระยะใกล้ พยานทั้งสองเห็นจำเลยที่ 2 ตั้งแต่นาย ส. ขับรถกลับเข้ามาที่บ้านที่เกิดเหตุและเห็นจำเลยที่ 2 ดึงโจทก์ร่วมเข้าไปในห้องนอน และโจทก์ร่วมยังเห็นจำเลยที่ 2 ในระยะใกล้ชิดขณะจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม ชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจให้โจทก์ร่วมและนางสาว ช. ดูภาพถ่ายจำเลยที่ 2 จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ โจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม และนางสาว ช. ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย เชื่อว่าโจทก์ร่วมและนางสาว ช. จดจำหน้าจำเลยที่ 2 ได้ นอกจากนี้นาย ส. ยังให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่านาย ส. ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม คำให้การของนาย ส. เป็นพยานบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด แต่คำซัดทอดนั้นมิได้เป็นการปัดความผิดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว แต่เป็นการแจ้งเรื่องราวเหตุการณ์ที่ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2 นาย ส. ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 และให้การต่อหน้ามารดาของตน ที่ปรึกษากฎหมายและนักสังคมสงเคราะห์ เชื่อว่านาย ส. ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ เมื่อพิเคราะห์ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นแล้ว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และมาตรา 227/1 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนางสาว ช. แล้วสอดคล้องต้องกัน พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ไม่มีน้ำหนักหักล้าง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 โดยไม่ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายทั้งที่โจทก์ร่วมเบิกความว่ารู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยโจทก์ร่วมระบุเพียงว่าถูกชายฉุดเข้าไปในห้อง เป็นชายวัยรุ่น เป็นชายไทย อายุประมาณ 18 ปีเศษ รูปร่างสมส่วน สูงประมาณ 170 เซนติเมตร อย่างอื่นปกติ แต่จำเลยที่ 2 อายุ 32 ปี จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คนร้ายนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความเพียงว่ารู้จักและเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมรู้จักชื่อจำเลยที่ 2 ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่ารู้จักโจทก์ร่วม แต่ไม่เคยพูดคุยกัน แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่รู้จักชื่อจำเลยที่ 2 มาก่อน และโจทก์ร่วมยังให้การต่อไปว่าเห็นอีกครั้ง พอจำได้ อันบ่งชี้ว่าโจทก์ร่วมจำหน้าจำเลยที่ 2 ได้ กรณีไม่เป็นพิรุธที่ชั้นสอบสวนโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ให้การครั้งแรก ส่วนที่โจทก์ร่วมให้การว่าคนร้ายอายุประมาณ 18 ปีเศษนั้น เป็นเพียงการกะประมาณซึ่งอาจคลาดเคลื่อนได้เป็นเรื่องปกติ หาเป็นพิรุธไม่เช่นกัน ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่าโจทก์ร่วมชี้ภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ข้อมูลทะเบียนราษฎร์พิมพ์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนโจทก์ร่วมชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 เห็นว่า แม้วันที่ที่พิมพ์ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์และวันที่ที่โจทก์ร่วมชี้ภาพถ่ายดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่โจทก์ร่วมยืนยันภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นคนร้ายและยังให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ข้อแตกต่างเกี่ยวกับวันดังกล่าวจึงไม่ใช่สาระสำคัญ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่าโจทก์ร่วมสนทนากับนาย น. ทางโปรแกรมเฟสบุ๊ก เมสเซนเจอร์ โดยโจทก์ร่วมถามว่าวันเกิดเหตุมีพี่กรุง (หมายถึงจำเลยที่ 2) ป่ะ นาย น. ตอบว่าพี่ไม่รู้ จำไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนครั้งแรก จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คนร้ายนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเพียงจำหน้าคนร้ายที่ฉุดโจทก์ร่วมเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราได้ แต่ไม่รู้จักชื่อคนร้าย โจทก์ร่วมจึงต้องการสอบถามชื่อคนร้ายดังกล่าวว่าเป็นจำเลยที่ 2 หรือไม่ ข้อนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าโจทก์ร่วมจำหน้าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้เก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มของจำเลยที่ 2 ไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบดีเอ็นเอของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ข้อนี้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ได้บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คนร้าย ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นสาระสำคัญที่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำต้องวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น เหตุเกิดวันเดียวกันและสถานที่เดียวกัน จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในแต่ละคดีมีกำหนด 37 ปี 4 เดือน แล้วนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้นมานับต่อจากคดีนี้ได้ ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกคดีแล้วโทษจำคุกเกินห้าสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา โดยมิได้กำหนดว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1035/2564 ของศาลชั้นต้น แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7