โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,341 และให้จำเลยคืนเงิน 36,775,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาง ว. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 21 กระทง เป็นจำคุก 63 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำเลยคืนเงิน 36,775,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าเมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2553 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอยุธยาอลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หลอกลวงโจทก์ร่วมซึ่งเป็นลูกค้าและทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทดังกล่าวว่าบริษัทประกันชีวิตมีนโยบายสมนาคุณให้แก่ลูกค้าพิเศษ มีโครงการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์พิเศษจากลูกค้าโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทุก 6 เดือน อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วบริษัทประกันชีวิตดังกล่าวไม่มีโครงการตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ 21 ฉบับ รวมเป็นเงิน 36,775,000 บาท มอบให้จำเลยแล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า จำเลยฎีกาว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมแต่ละครั้งอย่างไร เพียงนำสืบว่าจำเลยเสนอว่าบริษัทประกันชีวิตโครงการพิเศษรับฝากเงินโดยได้ดอกเบี้ยสูงแก่โจทก์ร่วมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงนำเงินฝากแต่ละครั้ง การนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจแยกเจตนาในการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละครั้งตามวันเดือนปีที่โจทก์ร่วมสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับให้แก่จำเลยได้ แต่กลับแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินกับบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดเพียงครั้งเดียวตามคำชักชวนของจำเลย โดยทยอยฝากเงินแต่ละครั้งเพื่อสะสมจำนวนเงินฝากให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อหวังดอกเบี้ย ซึ่งในการวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินแต่ละครั้งตามวันเดือนปีที่โจทก์ร่วมสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับให้แก่จำเลยหรือโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินเพียงครั้งเดียว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คำขอให้จำเลยคืนเงิน 36,775,000 บาท แก่โจทก์ร่วม เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยและบริษัทประกันชีวิตต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า บริษัทประกันชีวิตมีนโยบายสมนาคุณให้แก่ลูกค้าพิเศษมีโครงการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์พิเศษจากลูกค้าโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทุก 6 เดือน อันเป็นความเท็จ จนโจทก์ร่วมหลงเชื่อสั่งจ่ายเช็ค 21 ฉบับ รวมเป็นเงิน 36,775,000 บาท ให้จำเลยแล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน และขอให้คืนเงินที่จำเลยฉ้อโกงไป แม้ถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีแพ่ง โจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยและบริษัทประกันชีวิตฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์และเรียกทรัพย์คืนอันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับส่วนแพ่งในคดีนี้และคดีแพ่งเป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำขอให้จำเลยคืนเงิน 36,775,000 บาท แก่โจทก์ร่วม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยและบริษัทประกันชีวิตต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นรับฟังวัตถุพยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2.1 ถึงข้อ 2.27 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยอ้างในฎีกาว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานโจทก์และโจทก์ร่วมแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาล ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2.1 ถึงข้อ 2.27 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน