ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-สิทธิบังคับจำนอง: คดีถึงที่สุดแล้ว แม้หนี้ไม่ระงับ สิทธิยังคงมี แต่ฟ้องซ้ำไม่ได้
เดิมธนาคาร น. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองอันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้สามัญและเจ้าหนี้จำนองเต็มตามสิทธิที่ธนาคาร น. มีอยู่ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคาร น. และให้ธนาคาร น. มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ห้องชุดทรัพย์จำนองได้โดยให้นําออกขายทอดตลาดนําเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้ หลังจากนั้นธนาคาร น. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. และบริษัท บ.โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. เมื่อในคดีก่อนโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นําคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและให้มีสิทธิบังคับจำนองห้องชุดทรัพย์จำนองเต็มตามสิทธิของโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองทรัพย์จำนองหรือไม่ เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าหนี้จำนองห้องชุดพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทจึงยังคงมีอยู่และใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้