โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83, 91 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในกำหนดเวลาคุมประพฤติ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนกับฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานกับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายเพชรรัฐ เจ้าพนักงานว่า นางสาวอำไพวัน เชื้อชาติลาว สัญชาติลาว คือนางศิริพร ภริยาของจำเลย หลังจากนั้นในวันเดียวกันและเวลาต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกร่วมกันแสดงตนต่อนายเพชรรัฐ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ของที่ว่าการอำเภอปะนาเระซึ่งมีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนว่า นางสาวอำไพวัน คือนางศิริพร และบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย ทำให้นายเพชรรัฐสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจดข้อความลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลายอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงสถานะของบุคคลหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนของพวกของจำเลย แล้วร่วมกันนำบันทึกดังกล่าวแสดงต่อนายเพชรรัฐ เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้พวกของจำเลยเท่านั้น ความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน กับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และฐานร่วมกันแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9