โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 140,109,150.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 29 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 128,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 128,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 29 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2539 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 ตุลาคม 2539) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 12,109,150.68 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 128,000,000 บาท และวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนด จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเรื่อยมา จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินในฐานะผู้รับอาวัลหรือไม่ กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์แล้วหลักทรัพย์ที่จะนำมาจำนำเป็นประกันหนี้ยังไม่พร้อม แต่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะรับเงินที่กู้ไปก่อน โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยให้จำเลยที่ 2 รับอาวัลมอบให้ไว้เพื่อจะรอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจำนำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 45 วัน จำเลยที่ 1 จึงได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วนำมาขอให้จำเลยที่ 2 อาวัลในระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้และเรียกหลักประกันย่อมจะทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ใดและจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นระยะเวลานานเท่าใด เห็นได้จากเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด โจทก์ก็มิได้บังคับให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแต่กลับยอมให้จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเรื่อยมาอีก 3 ฉบับ และใช้ข้อตกลงในตั๋วสัญญาฉบับใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ตลอดมา การที่จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นลูกหนี้ตามตั๋วเงินได้สลักหลังจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ. 13 ให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินอยู่นี้ จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำได้ ทั้งนี้ โจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ. 13 ต่อไป จึงเป็นการสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดขึ้นจากความไม่สุจริตคบคิดกันฉ้อฉลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 วรรคสอง ประกอบมาตรา 985 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.