โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 12 เดือนริบปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) รองลูกกระสุนปืนออโตเมติก (ทองแดง) ขนาด .45 (11 มม.) และแกนลูกกระสุนปืนออโตเมติก (ตะกั่ว) ขนาด .45 (11 มม.) ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และ 83 ให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้าย 5 ถึง 6 คน ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 3 คัน มาตามถนน เมื่อผ่านหน้าบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ 3 ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปทางหน้าบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งขณะนั้นมีผู้เสียหายทั้งสองกับพวกนั่งอยู่รวม 3 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 บริเวณด้านซ้ายทะลุออกรักแร้ขวา ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ กระดูกซี่โครงหักและกระดูกสันหลังแตก เลือดออกในช่องปอดและในปอด สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยและนายศิริวิริยะนั่งร่วมดื่มสุราด้วยกันที่โรงงานผลิตเสาเข็มของบริษัทวัสดุภัณฑ์คอนกรีต จำกัด และจำเลยยังตามมาร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของน้องชายผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนนายทรงชัยและนายวิรุฬห์ที่มาร่วมงานที่บ้านของผู้เสียหายทั้งสองนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานทั้งสองว่า นายทรงชัยเพิ่งเห็นหน้าจำเลยเป็นครั้งแรกในคืนเกิดเหตุตั้งแต่เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จนถึงเวลาที่จำเลยมีเรื่องชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 นายวิรุฬห์เคยเห็นจำเลยมาก่อนคืนเกิดเหตุพยานทั้งสามย่อมอยู่ในวิสัยที่จะจดจำจำเลยได้ ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืนก็ตาม แต่ได้ความจากร้อยตำรวจเอกไชยวัฒน์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ขณะพยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พยานยืนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นหน้าคนที่บริเวณริมถนนได้ สอดคล้องกับภาพถ่ายประกอบคดี ที่พยานถ่ายรูปและจัดทำขึ้นในคืนเกิดเหตุนั่นเอง ซึ่งปรากฏตามภาพถ่ายดังกล่าวว่าบริเวณบ้านที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจน และตามบันทึกข้างต้นก็มีข้อความระบุว่าบริเวณบ้านที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าหน้าบ้านและแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าริมถนนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งยังเจือสมกับที่นายศิริวิริยะพยานจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีการเปิดแสงไฟให้ความสว่างและที่ด้านนอกมีแสงสว่างจากเสาไฟฟ้าสามารถมองเห็นถนนได้ ทำให้เชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่จะจดจำบุคคลได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 นั่งอยู่ที่โต๊ะม้าหินอ่อนห่างจากจุดที่พบปลอกกระสุนปืนประมาณ 17 เมตร ผู้เสียหายที่ 1 นั่งอยู่ที่โต๊ะถัดไปทางด้านขวานายทรงชัยกับนายวิรุฬห์นั่งอยู่ที่โต๊ะด้านหน้าโต๊ะที่ผู้เสียหายที่ 2 นั่ง เป็นระยะที่ผู้เสียหายที่ 1 กับนายทรงชัยและนายวิรุฬห์สามารถจะมองเห็นคนร้ายได้ ยิ่งกว่านั้นคืนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกไชยวัฒน์และร้อยตำรวจเอกนพนันท์ ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิง โดยโจทก์มีร้อยตำรวจเอกไชยวัฒน์ และร้อยตำรวจเอกนพนันท์ มาเบิกความรับรองในเรื่องนี้ พยานทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความของพยานดังกล่าวย่อมมีน้ำหนักในการรับฟังอันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงภาวะการจดจำคนร้ายของผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 นายทรงชัยและนายวิรุฬห์มีโอกาสมองเห็นเพียงด้านข้างของคนร้ายเท่านั้นก็ได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะยิงจำเลยใช้มือทั้งสองจับอาวุธปืน ลักษณะการยิงเช่นนี้เมื่อจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ จำเลยต้องหันลำตัวและใบหน้าไปในทิศทางของเป้าหมายที่จะใช้อาวุธปืนยิงอยู่แล้ว และที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ไม่พบเขม่าดินปืนติดอยู่ที่เสื้อของกลาง นั้น การตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืนดังกล่าวเป็นเพียงการพิสูจน์เบื้องต้นว่าเสื้อของกลางมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ การตรวจไม่พบเขม่าดินปืนมิใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้สวมเสื้อดังกล่าวมิใช่คนร้ายเสมอไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไม่สามารถตรวจพบเขม่าดินปืนได้ ดังจะเห็นได้จากตรวจไม่พบเขม่าดินปืนที่มือจำเลยเพราะการจัดเก็บเขม่าดินปืนที่มือจำเลยกระทำเกินกว่า 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาจอดอยู่ที่หน้าบริษัทวัสดุภัณฑ์คอนกรีต จำกัด และนายศิริวิริยะกับนายพิสุทธิ์หรือโด้ มาพบจำเลยแจ้งให้ทราบว่าเกิดเหตุยิงกันที่บ้านของผู้เสียหายทั้งสอง โดยมีนายวิมล และนายศิริวิริยะมาเบิกความเป็นพยานนั้น ก็ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ. 29 ว่านายวิมลให้การว่านายพิสุทธิ์เพียงคนเดียวมาพบจำเลยและขับรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน กับตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ. 30 และ จ. 31 นายศิริวิริยะและนายพิสุทธิ์ไม่ได้ให้การว่าหลังเกิดเหตุที่บ้านของผู้เสียหายทั้งสองแล้วบุคคลทั้งสองได้ไปพบจำเลยที่บริเวณหน้าโรงงานดังกล่าว พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง กรณีจึงเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 นายทรงชัยและนายวิรุฬห์สามารถมองเห็นและจดจำคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองได้ว่าคือจำเลยและข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 มีเรื่องชกต่อยกับจำเลยที่บ้านที่เกิดเหตุหลังจากนั้นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกไป ต่อมาอีกนานประมาณครึ่งชั่วโมงจำเลยกับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 3 คัน ย้อนกลับมาใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกขณะนั่งอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีไม่ใช่เกิดโทสะแล้วยิงผู้เสียหายทั้งสองทันที แต่เป็นกรณีเกิดโทสะจากการมีเรื่องชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 และออกจากที่เกิดเหตุไปนานประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งจำเลยมีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองแล้วจึงหวนกลับมาพร้อมกับพวกและนำอาวุธปืนที่นับว่าเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหายทั้งสอง ถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน