โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 91, 149, 157, 337 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 5 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 83 (ที่ถูก มาตรา 149) ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 83 ประกอบด้วยมาตรา 86 (ที่ถูก มาตรา 149 ประกอบด้วย มาตรา 86) วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสอง ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ได้ร่วมกันทำการตรวจค้นและจับกุมนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวหรือคิมมิงหัวในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษชนิดเฮโรอีนไว้ในครอบครองและร่วมกันมีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยทั้งสองได้เรียกร้องเอาเงินจากนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวหรือไม่ ในส่วนนี้โจทก์มีนายเศรษฐพงษ์ หลักไชยผู้ขับรถยนต์รับจ้าง นายหลินหมิงหัวและนายฮองนึงซึงมาเบิกความสอดคล้องกันและได้ความชัดแจ้งว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองตรวจค้นและพบของผิดกฎหมายจากนายฮองนึงซึงกับหลินหมิงหัวแล้วจำเลยที่ 2 ได้พูดว่าถ้าไม่อยากติดคุกและไม่อยากถูกประหารชีวิต ให้เอาเงินมาจ่าย 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยังได้เอาสร้อยคำทองคำของนายหลินหมิงหัวไป เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้นายเศรษฐพงษ์ขับรถตระเวนพานายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวไปที่ต่าง ๆ แล้ว ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้เรียกร้องเอาเงินจากนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวจริง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายเศรษฐพงษ์ผู้ขับรถยนต์รับจ้างมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองได้พูดขู่ว่าจะจับนายเศรษฐพงษ์เป็นผู้ต้องหาที่สมคบกับนายฮองนึงซึง และนายหลินหมิงหัว ส่วนนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยเมื่อถูกพบเห็นกระทำความผิดเกรงกลัวถูกจับจึงคิดจะให้เงินจำเลยทั้งสองเพื่อให้ปล่อยตัวไป เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมรับและสั่งให้นายเศรษฐพงษ์ขับรถไปที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อทำการตรวจค้นจับกุมตามกฎหมายโดยขณะที่จำเลยที่ 2 ลงไปแจ้งความนายเศรษฐพงษ์และนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัว จึงแจ้งจับจำเลยทั้งสองโดยคิดจะปัดความผิดให้พ้นตัวเอง คำเบิกความของนายเศรษฐพงษ์และนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวมีน้ำหนักน้อย ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ขัดกับเหตุผลและขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 กล่าวคือจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในระหว่างทาง ชายจีน 2 คนนั้นไม่ได้พูดเสนอให้เงินจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพียงแต่พูดว่าให้ไปที่บ้านซึ่งมีเพื่อนรอจะเอาของอีก 2 คนและชายจีน 2 คน ไม่ได้พูดว่าเพื่อนของเขาซึ่งอยู่ในซอยเขมามีเงินเป็นล้าน ๆ และยังเบิกความต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 บอกให้นายเศรษฐพงษ์ขับรถไปที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากจำเลยที่ 1รู้จักกับร้อยตำรวจโทวินัย ต้องการนำชาย 2 คนนั้นไปให้ร้อยตำรวจโทวินัยรู้เห็นและรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้น และต้องการปรึกษาขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมคนซึ่งพักอยู่บ้านเดียวกันกับชาย 2 คน ที่ซอยเขมา ศาลฎีกาเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองต้องการจะตรวจค้นและจับกุมจริง เมื่อจำเลยทั้งสองค้นพบสิ่งผิดกฎหมายแล้วก็ชอบที่จะจับกุมและนำผู้ต้องหาไปมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่พบการกระทำความผิด เพื่อดำเนินการต่อไปในทันทีไม่ใช่พาตระเวนไปถึงสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่การงานแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนทุกนายยังต้องปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีซึ่งได้มีการแบ่งแยกการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นเหล่าเป็นแผนกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการก้าวก่ายหน้าที่กันเอง จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจน้ำ ตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีกำหนดหน้าที่ตำรวจน้ำไว้โดยเฉพาะไม่ให้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 เป็นช่างเครื่องมีหน้าที่ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเรือที่ใช้ในราชการตำรวจน้ำ ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจำเลยที่ 2 ไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นตำรวจโดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมายจึงเป็นเจ้าพนักงานแม้จะรับราชการประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำทำหน้าที่ช่างเครื่องซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเรือที่ใช้ในราชการตำรวจน้ำ ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการแต่โดยทั่วไปจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 การที่จำเลยที่ 1ทำการตรวจค้นและจับกุมนายฮองนึงซึงกับนายหลินหมิงหัวซึ่งกระทำความผิดต่อกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษสูงเกินไป จำเลยทั้งสองไม่เคยถูกกล่าวหาคดีอาญามาก่อน จำเลยที่ 1 รับราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี เคยปฏิบัติราชการตามสำเนาบันทึกท้ายฎีกานับได้ว่าเป็นผู้มีความดีความชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบา และรอการลงโทษให้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาบันทึกท้ายฎีกานั้น เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นความดีความชอบพิเศษ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับมากระทำผิดต่อหน้าที่โดยเรียกเอาทรัพย์สินโดยมิชอบ ทั้งโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาก็เกือบจะเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยที่ 1 อีก ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาก็เหมาะสมแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ"
พิพากษายืน