คดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนสำนวนมาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาให้นำหุ้นของบริษัท ย. ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 จำนำไว้แก่ผู้ร้องออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ร้องต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นให้บังคับเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอถอนคำร้องขอในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับจำนำหุ้น และถอนคำร้องขอในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ออกจากคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 ยื่นคำคัดค้าน วันที่ 23 กันยายน 2562 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องขอในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจำนำหุ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ คงให้เหลือเฉพาะประเด็นการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ออกจากสารบบความ ผู้คัดค้านที่ 2 โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืนตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 3940/2563
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์แก่ผู้ร้องภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 อันเป็นวันที่มีคำชี้ขาด ดังต่อไปนี้
(ก) หนี้เงินจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องชำระต่อไปตามสัญญานับถัดจากวันมีคำชี้ขาดไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่เมื่อคำนวณถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ต้องไม่เกินจำนวน 336,072,131.75 ดอลลาร์สหรัฐ ตามคำขอ อนึ่ง ต้นเงินจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น คำชี้ขาดรวมค่าใช้จ่าย 432,768.43 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปด้วย ค่าใช้จ่ายจำนวนหลังให้คิดดอกเบี้ยตามข้อ (ง)
(ข) ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมชั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 370,027.92 ดอลลาร์สิงคโปร์
(ค) ค่าใช้จ่ายคดีความและอื่น ๆ ของผู้ร้องจำนวน 1,049,304.69 ดอลลาร์สิงคโปร์
(ง) ในส่วนค่าใช้จ่าย 432,768.43 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดรวมอยู่ในข้อ (ก) แล้วนั้น ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5.33 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่เมื่อคำนวณถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 68,879.30 ดอลลาร์สหรัฐ ตามคำขอ
(จ) คำขออื่นให้ยก
ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่ผู้ร้องชนะคดี กำหนดค่าทนายความให้ 500,000 บาท กรณีชำระหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและดอลลาร์สิงคโปร์ตามอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อในวันที่ใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราถัวเฉลี่ยเช่นว่านั้น ในกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหรืออัตราอ้างอิง ก็ให้ใช้อัตรานั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา และผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเคย์แมน มีวัตถุประสงค์บริหารจัดการลงทุนและจัดหาแหล่งลงทุน บริษัท ท. เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเคย์แมน โดยมีผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ผู้คัดค้านที่ 2 ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวด้วย ในช่วงปี 2543 ถึง 2554 บริษัท ย.เป็นหนี้เจ้าหนี้หลายรายรวมถึงบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. เจ้าหนี้รายใหญ่ ต่อมาบริษัท ย. ถูกฟ้องล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ติดต่อผู้ร้องให้จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้บริษัท ย. นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาการเข้าร่วม (Participation Agreement) โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต่างทำสัญญาในฐานะ "Sponsor" หรือ "ผู้สนับสนุนทางการเงิน" ส่วนผู้ร้องทำสัญญาในฐานะ "Participant" หรือ "ผู้เข้าร่วม" ซึ่งมีสาระสำคัญให้ผู้ร้องดำเนินการให้บริษัท ท. ให้สินเชื่อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่าเงินจำนวน 1,405,000,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะใช้เงินที่ได้รับตามที่ตกลงไว้ในสัญญาสินเชื่อ (Facility Agreement) และโอนสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ท. ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง (Subrogation Claim Assignment Agreement) โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ย. ที่มีต่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. ตามสัญญาการเข้าร่วมยังให้นิยาม "เหตุการณ์เงื่อนไขที่ 1" (Trigger Event 1) ว่า หมายถึง กรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้เกิดขึ้น (เอ) ศาลล้มละลายปฏิเสธคำร้องในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการ หรือ (บี) ศาลล้มละลายไม่รับคำร้องในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 6 เดือน นับจากวันเบิกเงินกู้ และ "เหตุการณ์เงื่อนไขที่ 2" (Trigger Event 2) หมายถึง กรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้เกิดขึ้น (เอ) ไม่มีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงคะแนนเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 11 เดือน นับจากวันเบิกเงินกู้ หรือในการประชุมเจ้าหนี้นั้น แผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายไทยกำหนดในการยอมรับและให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ หรือ (บี) แผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายภายใน 11 เดือน นับจากวันเบิกเงินกู้ หรือแผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอถูกศาลล้มละลายปฏิเสธไม่ว่าช่วงเวลาใดก็ตาม ในวันเดียวกันผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงให้คำรับรองและค้ำประกันแก่ผู้ร้องในกรณีมีการผิดสัญญาการเข้าร่วม หรือสัญญาสินเชื่อสะพานเชื่อมปรับโครงสร้างระหว่างบริษัท ย. กับบริษัท ท. และในวันเดียวกันผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับบริษัท ท. ตกลงทำสัญญาสินเชื่อ (Facility Agreement) โดยบริษัท ท. จะให้เงินกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่าเงินจำนวน 725,000,000 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อนำไปชำระแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และบริษัท ท. จะให้เงินกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่าเงินจำนวน 680,000,000 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อไปชำระแก่ธนาคาร ก. จำนวน 660,000,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือไปชำระค่าธรรมเนียมก่อนเบิกใช้เงินกู้ หลังจากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เบิกใช้เงินกู้ดังกล่าวและชำระหนี้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. ในฐานะผู้ค้ำประกันแทนบริษัท ย. ไปแล้ว วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวน 725,000,000 บาท ให้บริษัท ท. ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวน 660,000,000 บาท ให้บริษัท ท. โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้บริษัท ย. ทราบแล้ว ในวันเดียวกันบริษัท ย. ตกลงกับบริษัท ท. ว่า บริษัท ย. ในฐานะผู้กู้ จะชำระเงินจำนวน 1,385,000,000 บาท คืนให้แก่บริษัท ท. ในฐานะผู้ให้กู้เดิม (the Original Lender) โดยมีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการเข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 (Supplemental Deed Relating to Participation Agreement Dated 28 November 2010) หลังทำสัญญาการเข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ย. 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 และวันที่ 28 มิถุนายน 2555 แต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมด วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ผู้ร้องยื่นข้อพิพาทต่อศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (The Singapore International Arbitration Center หรือ SIAC) เรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์แต่งตั้งลอร์ด โกลด์สมิธ เนติบัณฑิตอาวุโส (Lord Goldsmith QC) เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียว วันที่ 18 กันยายน 2558 อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด โดยในข้อ 290 วินิจฉัยว่า จำนวนค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องจะถูกคิดคำนวณต่อไปตามข้อสัญญา โดยพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายผู้ร้องให้สูตรการคำนวณค่าเสียหายต่อไปถึงวันที่มีคำชี้ขาดเท่ากับ 16,535,599.61 ดอลลาร์สหรัฐ คูณด้วย 1.33 (ยกกำลัง "n" หารด้วย 360) โดยที่ "n" คือ จำนวนวันระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถึงวันที่มีคำชี้ขาด ข้อ 333 วินิจฉัยว่า อนุญาโตตุลาการเห็นว่าค่าเสียหายที่ต้องชำระทั้งสิ้นจะเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ดังที่อ้างไว้ในข้อ 290 จนกว่าจะชำระต้นเงินทั้งหมดเสร็จสิ้น และข้อ 335 ชี้ขาดว่า
(1) ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่ผู้ร้องภายใน 14 วัน นับจากวันชี้ขาด ดังนี้
(เอ) เงินจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐ
(บี) ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ (Costs of Arbitration) จำนวน 370,027.92 ดอลลาร์สิงคโปร์
(ซี) ค่าใช้จ่ายทางกฎหมายหรือค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ร้อง (The Claimant’s Legal or Other Costs) จำนวน 1,049,304.69 ดอลลาร์สิงคโปร์
(2) ยกคำเรียกร้องแย้ง
(3) รับรองว่าเกิดเหตุการณ์เงื่อนไขที่ 1 (Trigger Event 1) และเหตุการณ์เงื่อนไขที่ 2 (Trigger Event 2) ตามที่ได้นิยามไว้ในสัญญา ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิตามสัญญาการเข้าร่วมข้อ 5 ในการบังคับและหรือใช้สิทธิใด ๆ ภายใต้หนังสือมอบอำนาจเหนือทรัพย์สินในประเทศสิงค์โปร์
(4) รับรองว่ามีการผิดนัดตามสัญญาการเข้าร่วม
(5) การชำระเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องจะคิดตามสัญญาระหว่างคู่พิพาทต่อไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้เสร็จสิ้น
(6) ดอกเบี้ยสำหรับค่าใช้จ่ายจำนวน 432,768.43 ดอลลาร์สหรัฐ จะคิดต่อไปในอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี และ
(7) บรรดาข้อเรียกร้อง ข้อต่อสู้ และข้อเรียกร้องแย้งอื่นนอกจากนี้ ให้ตกไป ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์แจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวแก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทราบคำชี้ขาดแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ประเทศสิงคโปร์เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยการยอมรับนับถือและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ.1958 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจำนำหุ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ คงให้เหลือเฉพาะประเด็นการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ซึ่งในการยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณามีเพียงว่าศาลจะบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น โดยศาลอาจปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดหากมีเหตุตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 และ 44 สำหรับคำร้องในส่วนที่บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับให้ได้ ดังนั้น การที่ผู้ร้องขอถอนคำร้องในส่วนที่ขอบังคับตามสัญญาจำนำหุ้นซึ่งไม่ได้อยู่ในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้เหลือประเด็นเฉพาะการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบต่อประเด็นหลักที่ศาลต้องพิจารณาในคดีนี้ และไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีขอบังคับ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจะพิจารณาเฉพาะตัวคำชี้ขาดตามคำร้องเท่านั้น ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์อ้างทำนองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งดังกล่าวเท่ากับเป็นการอนุญาตให้แก้ไขคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น มีเนื้อหาเป็นการขอถอนคำร้องขอในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับจำนำหุ้นและขอแก้เป็นให้บังคับเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อันมีลักษณะเป็นการสละข้อหาตามคำร้องเดิมบางข้อออกไป โดยไม่มีการเพิ่มเติมข้อหา ข้อกล่าวอ้าง หรือข้อเท็จจริงอื่นใดอันจะมีผลทำให้คำร้องในส่วนที่ไม่ชอบกลับมาเป็นคำร้องที่ชอบดังที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าการที่ผู้ร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งได้ความว่าการถอนคำร้องดังกล่าวไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องเสียเปรียบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งดังกล่าวมานั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วอุทธรณ์คำสั่งข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงผลของคำสั่ง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย อุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการเข้าร่วม ข้อ 11 จะกำหนดเรื่องเขตอำนาจในการพิจารณาว่าศาลแห่งประเทศอังกฤษมีเขตอำนาจโดยไม่กล่าวถึงการอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับแล้ว พบว่าสาระสำคัญของสัญญานี้อยู่ที่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการเข้าร่วม โดยในข้อ 2 "AMENDMENTS" หรือหัวข้อ "การแก้ไขเพิ่มเติม" มีการระบุถึงหัวข้อที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในหัวข้อย่อย ได้แก่ 2.1 การแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามต่าง ๆ (Amendments to Definitions) ระบุว่า "(i) The definition of "First Loss Application" shall be deleted in entirety and substituted with the following: … (ii) A new definition of "Indirect Tax" shall be added as follows: …" ซึ่งหมายความว่า "(1) ให้ยกเลิกนิยามของคำว่า "การหักเงินครั้งแรก" ทั้งหมดและแทนที่ด้วยข้อความตามนี้ ... (2) คำนิยามของคำว่า "ภาษีทางอ้อม" จะถูกเพิ่มเติมตามนี้ ..." 2.2 การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อ 4.2 (Amendment to Clause 4.2) ระบุว่า "… the Parties hereby agree that the following shall be inserted as new paragraph (d) to Clause 4.2 of the Participation Agreement …" ซึ่งหมายความว่า "... คู่สัญญาตกลงให้เพิ่มข้อย่อย (ดี) เข้าไปในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 4.2 ดังต่อไปนี้ ..." 2.3 การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อ 7 (Amendment to Clause 7) ระบุว่า "… the Parties hereby agree that Clause 7 of the Participation Agreement shall be deleted in entirety and substituted with the following: …" ซึ่งหมายความว่า "… คู่สัญญาตกลงให้ยกเลิกข้อความในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 7 ทั้งหมด และแทนที่ด้วยข้อความตามนี้ ..." 2.4 การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อ 8 (Amendment to Clause 8) ระบุว่า "… the Parties agree that following shall be inserted as new paragraph (g) to Clause 8 of the Participation Agreement …" ซึ่งหมายความว่า "... คู่สัญญาตกลงให้เพิ่มข้อย่อย (จี) เข้าไปในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 8 ดังต่อไปนี้ ..." และข้อ 2.5 การแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 2 (Amendment to Schedule 2) ระบุว่า "… the Parties hereby agree that the Schedule 2 (The Properties) of the Participation Agreement shall be deleted and substituted with the revised Schedule 2 (The Properties) attached hereto as Annex 1." ซึ่งหมายความว่า "… คู่สัญญาตกลงให้ยกเลิกตาราง 2 (ทรัพย์สินต่าง ๆ) ในสัญญาการเข้าร่วม และแทนที่ด้วยตาราง 2 (ทรัพย์สินต่าง ๆ) ที่ปรับปรุงใหม่ตามภาคผนวก 1 แนบท้ายนี้" จากข้อสัญญาข้างต้นทำให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาได้ว่า หากคู่สัญญาต้องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความส่วนใดในสัญญาการเข้าร่วมก็จะมีการระบุไว้โดยละเอียดว่าต้องการยกเลิกข้อความส่วนใดแล้วใส่ข้อความใหม่แทนที่ข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป หรือหากต้องการเพิ่มเติมข้อความใดเข้าไปโดยไม่ยกเลิกข้อความเดิมในสัญญาก็จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2.1 ถึง 2.5 ข้างต้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 11 แล้วเห็นว่าไม่ได้ระบุในรูปแบบเช่นเดียวกับในข้อ 2 แต่เพียงกำหนดเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับและเขตอำนาจศาลในการพิจารณาข้อพิพาทตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นการกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในกรณีพิจารณาแยกเฉพาะสัญญาไป โดยไม่มีเจตนาแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการบังคับหรือระงับข้อพิพาทตามสัญญาการเข้าร่วมข้อ 26 เนื่องจากหากคู่สัญญาประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งในสัญญาข้อดังกล่าว หรือต้องยกเลิกวิธีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 26.2 ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างแล้วย่อมต้องระบุไว้ในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 2 และใส่รายละเอียดให้ชัดเจนว่าให้ยกเลิกข้อความตามสัญญาการเข้าร่วมข้อ 26.2 ทั้งหมดดังเช่นที่ระบุในข้อย่อยที่ 2.1 ถึง 2.5 ข้างต้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 10 "INCORPORATION OF TERMS" หรือหัวข้อ "การนำข้อกำหนดอื่นมาใช้ในสัญญานี้" ระบุว่า "The provisions of Clause 17 (Rights and Waivers), Clause 18 (Notices) and Clause 26 (Enforcement) of the Participation Agreement shall be incorporated into this Deed as if set out in full in this Deed and as if references in those clauses to "this Agreement" are references to this Deed." ซึ่งหมายความว่า "ข้อกำหนดในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 17 (สิทธิและการสละสิทธิ) ข้อ 18 (การแจ้งเตือน) และข้อ 26 (การบังคับตามสัญญา) จะนำมาใช้ในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนี้เสมือนกับว่าได้ระบุไว้ครบถ้วนในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนี้" โดยถ้อยคำของสัญญาการเข้าร่วมข้อ 17, 18 และ 26 ข้างต้นที่ใช้คำว่า "สัญญานี้ (this Agreement)" จะถูกนำมาใช้เสมือนเป็นกรณีการอ้างอิงถึงสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนี้ (this Deed) ยิ่งทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมมิได้แก้ไขหรือยกเลิกข้อความใด ๆ ในสัญญาการเข้าร่วมข้อ 26 แต่ในทางตรงข้ามกลับให้นำสัญญาข้อ 26 มาใช้ร่วมกับสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ดังนี้ สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 11 จึงไม่ได้ยกเลิกข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาการเข้าร่วม ข้อ 26.2 ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างด้วยว่า การที่สัญญาการเข้าร่วม ข้อ 26.2 กำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเพียงฝ่ายเดียวนั้น ขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อบังคับของสำนักงานศาลยุติธรรมที่กำหนดให้เป็นสิทธิของคู่พิพาท และยังถือเป็นการจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของคู่สัญญาอีกฝ่ายในการแสวงหาหรือการเข้าถึงความยุติธรรมในศาล ขัดต่อหลักกฎหมายอังกฤษ หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ข้อสัญญาดังกล่าวจึงถือเป็นข้อสัญญาที่บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า วิธีอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการระงับข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศดังที่ปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็นำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย ทั้งประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ต่างก็เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ.1958 แห่งสหประชาชาติ หรืออนุสัญญานิวยอร์ก (The United Nations Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards, The New York Convention) ดังนั้น แม้สัญญาการเข้าร่วมข้อ 26.2 จะกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพราะเมื่อผู้ร้องเลือกที่จะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 26.2 แล้ว ก็ต้องดำเนินการตามข้อบังคับศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (SIAC Rules) โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำคัดค้านต่อสู้ในคดีดังกล่าวได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าการดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์จะทำให้ผู้ร้องได้เปรียบผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อย่างไร ทั้งเมื่อมีคำชี้ขาดแล้วหากผู้ร้องประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวในประเทศไทยก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และ 42 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็อาจยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดได้หากสามารถพิสูจน์ได้ตามมาตรา 43 ดังเช่นที่มีการดำเนินคดีนี้ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงยินยอมให้ผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิในการเลือกระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการจึงไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในการแสวงหาหรือเข้าถึงความยุติธรรมดังที่อ้างมาแต่อย่างใด ข้ออ้างในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วางหลักว่า ในการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และให้มีโอกาสนำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทนั้น ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย เมื่อตามสัญญาการเข้าร่วม ข้อ 26.2 กำหนดในกรณีระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ให้ใช้อนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ภายใต้ข้อบังคับศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (SIAC Rules) โดยคณะอนุญาโตตุลาการจะประกอบไปด้วยอนุญาโตตุลาการคนเดียวที่แต่งตั้งโดยประธานศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงให้อำนาจอนุญาโตตุลาการคนเดียวในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ แล้ว โดยเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาข้างต้นแล้วเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงวันนัดสืบพยานนั้น อนุญาโตตุลาการได้ให้โอกาสฝ่ายผู้คัดค้านและอนุญาตตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมและขยายกำหนดเวลาต่าง ๆ ให้ฝ่ายผู้คัดค้านหลายครั้งแม้จะมีการคัดค้านจากฝ่ายผู้ร้องก็ตาม และแม้ท้ายที่สุดฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีผู้ใดมาในวันนัดสืบพยาน แต่ในการรับฟังพยานหลักฐานอนุญาโตตุลาการก็นำพยานหลักฐาน บันทึกถ้อยคำพยาน รวมถึงรายงานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายผู้คัดค้านมาพิจารณาด้วย นอกจากนี้ ยังปรากฏจากอุทธรณ์คำพิพากษาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ด้วยว่า "หากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้เข้าร่วมพิจารณาในวันสืบพยานย่อมเป็นการให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น" อันแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทราบกำหนดนัดแล้วแต่เลือกที่จะไม่ส่งผู้ใดไปในวันนัดสืบพยานดังกล่าว ดังนั้น การที่อนุญาโตตุลาการกำหนดนัดสืบพยานและสืบพยานฝ่ายผู้ร้องไปฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการคนเดียวจะมีข้อบกพร่องในการใช้ดุลพินิจตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างมา แต่เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้ร้อง และให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้แล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า สัญญาการเข้าร่วมและสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงสัญญาให้คำรับรอง และหนังสือค้ำประกัน มีวัตถุประสงค์เป็นการค้าความ โดยเป็นการซื้อหนี้ที่เป็นคดีความทำให้เป็นคดีใหม่ คือ คดีฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลาง แผนทางการเงินและโครงสร้างการให้กู้ยืมเงินมีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการเป็นคดีความเดิมของบริษัท ย. ทั้งสัญญาการเข้าร่วมและสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมยังมีข้อกำหนดให้มีการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ย. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องและบริษัท ท. โดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย ผู้ร้องใช้อำนาจครอบงำการฟื้นฟูกิจการ มีข้อกำหนดวิธีการฟื้นฟูกิจการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และยังเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เนื่องจากก่อนทำสัญญา บริษัท ย. ที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการ ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดี ยึดทรัพย์ ฟ้องล้มละลายจนถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ทำให้ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องหาแหล่งเงินกู้และได้รับการแนะนำให้กู้เงินจากผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพทางการเงินมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภค อาศัยวิกฤตทางการเงินของบริษัท ย. ทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องจำยอมทำตามโครงสร้างการให้กู้ยืมเงินที่ผู้ร้องเป็นผู้กำหนดและเป็นฝ่ายจัดทำสัญญาทุกฉบับโดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่มีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาได้ ทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องรับภาระมากกว่าความเป็นจริง เป็นการเอาเปรียบผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้สัญญาการเข้าร่วมยังขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 เนื่องจากสัญญาการเข้าร่วมกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินตอบแทนในรูปของผลตอบแทนแบบแน่นอนตายตัว (All-in-Fixed Yield) ซึ่งหมายความถึง อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) ที่คำนวณจากความเสี่ยงภัยของเทล (TAEL Exposure) ในอัตราที่เท่ากับอัตราผลตอบแทนของการมีส่วนร่วม (Participation IRR) ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ส่วนความเสี่ยงภัยของเทลหมายถึงจำนวนเงินกู้สะพานเชื่อมปรับโครงสร้างตามที่ลดจำนวนลงด้วยจำนวนเงินใด ๆ ที่ผู้ร้องนำไปใช้กับการหักเงินครั้งแรก (First Loss Application) ซึ่งคือจำนวนเงินกู้สะพานเชื่อมปรับโครงสร้างลดด้วยเงินชำระคืนใด ๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัท ย. ด้วย อันเป็นการอำพรางดอกเบี้ยเงินกู้เป็นค่าตอบแทนตามสัญญาการเข้าร่วมโดยเลี่ยงไม่ใช้คำว่าดอกเบี้ย คิดเป็นเงินค่าตอบแทนที่ผู้ร้องได้รับอัตราร้อยละ 130 ต่อปี เมื่อรวมกับดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี จึงเป็นอัตราร้อยละ 133 ต่อปี นั้น ในข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงรวมถึงที่มาอันเป็นมูลเหตุในการทำสัญญาต่าง ๆ ในคดีนี้ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดได้ความว่า ศูนย์กลางของนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คือ หนี้ของบริษัท ย. ซึ่งถือหุ้นโดยบุคคลในตระกูล ต. และมีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทดังกล่าวมีเจ้าหนี้รายใหญ่คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน คือ จำนองเหนืออาคาร ย. ส่วนผู้ร้องเป็นหน่วยลงทุนที่เชี่ยวชาญและมุ่งการให้ทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้บริหารซึ่งเคยทำงานในภูมิภาคดังกล่าวรวมถึงประเทศไทย เคยให้คำปรึกษาและช่วยการลงทุนแก่ตระกูลต่าง ๆ ในประเทศไทย ผู้ร้องได้รับการแนะนำให้รู้จักกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพื่อบริหารหนี้ของบริษัท ย. โดยจัดหาแหล่งลงทุนให้แก่บริษัท ย. ในลักษณะเงินกู้สะพานหรือเงินกู้ระยะสั้นในวงเงินประมาณ 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ การเจรจาหยุดชะงักไปจนกระทั่งเริ่มเจรจากันใหม่ในเดือนกันยายน 2553 หลังจากมีเหตุความวุ่นวายทางการเมือง จากพฤติการณ์และบรรยากาศการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผู้ร้องเห็นว่าผลตอบแทนการลงทุนต้องอยู่ในระดับอัตราร้อยละ 30 ต่อปี โครงการลงทุนดังกล่าวมีโครงสร้างที่ซับซ้อน โดยให้บริษัท ท. ให้เงินกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพื่อนำไปชำระหนี้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. และดำเนินการเพื่อให้บริษัท ท. ได้รับโอนหลักประกันจำนองในอาคาร ย. คืนจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และธนาคาร ก. โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โอนสิทธิในความเป็นเจ้าหนี้พร้อมหลักประกันที่ได้รับมาจากบริษัท ย. ให้แก่บริษัท ท. พร้อมให้บริษัท ย. กับบริษัท ท. ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นหรือสินเชื่อสะพานเชื่อมปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้บริษัท ย. เสนอคำร้องให้ศาลล้มละลายกลางอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของตน และเพื่อกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงจ่ายค่าธรรมเนียม ผลตอบแทนในความเสี่ยง เบี้ยประกัน ค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่าย ให้แก่ผู้ร้องซึ่งต้องรับภาระและความเสี่ยงในการร่วมรับผิดชอบในเงินกู้ที่จัดหาให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต่อมาศาลล้มละลายกลางยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท ย. ถึงสามครั้ง บริษัท ย. ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียม ผลตอบแทนในความเสี่ยง เบี้ยประกัน ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามสัญญา ผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ตามสัญญาอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยพิจารณารวมถึงรายงานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไทยของทั้งสองฝ่ายแล้วสรุปได้ความว่า สัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอังกฤษซึ่งเป็นไปตามสัญญาการเข้าร่วมข้อ 25 ซึ่งมีผลบังคับใช้สมบูรณ์ และไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนของประเทศไทย โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (Default Interest) ตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 3 ไม่ใช่อัตราร้อยละ 33 อันเป็นไปตามสัญญาการเข้าร่วมข้อ 12 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าเท่ากับอัตราร้อยละ 3 บวกด้วยอัตราร้อยละ 30 ของอัตราผลตอบแทนของการมีส่วนร่วม (Participation IRR) โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งได้ว่าอัตราผลตอบแทนของการมีส่วนร่วมดังกล่าว คือ เบี้ยปรับ (Penalty) เนื่องจากหน้าที่ในการชำระอัตราผลตอบแทนของการมีส่วนร่วมเป็นหนี้ประธาน (Primary Obligation) ที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระ ทั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ยอมรับในหลักที่ว่าเบี้ยปรับมิใช่หนี้ประธาน แต่เป็นหนี้ลำดับรอง (Secondary Obligation) ที่จะต้องจ่ายก็ต่อเมื่อเกิดการผิดสัญญา ปรากฏตามคำชี้ขาด ข้อ 206 ถึง 281 ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริง มูลเหตุและความเป็นมาในคดีประกอบสัญญาที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า สัญญาต่าง ๆ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่อาศัยรากฐานจากสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ทั้งเห็นด้วยว่าค่าตอบแทนที่ผู้ร้องได้รับคืออัตราร้อยละ 30 ต่อปี ของจำนวนเงินกู้ในสัญญาสินเชื่อสะพานเชื่อมปรับโครงสร้างที่บริษัท ท. ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาสินเชื่อซึ่งอยู่ในสัญญาการเข้าร่วมนั้นไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่เป็นค่าธรรมเนียม ผลตอบแทนในความเสี่ยง เบี้ยประกัน ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดหาเงินทุนต้องรับภาระ รวมถึงความเสี่ยงที่ผู้ร้องต้องร่วมรับผิดชอบในเงินกู้ที่จัดหาให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ส่วนดอกเบี้ยในหนี้ที่ผิดนัดตามสัญญากำหนดไว้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ดังนี้ เหตุบกพร่องต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่สัญญาต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เป็นการค้าความ ผู้ร้องมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า กำหนดและจัดทำสัญญาต่าง ๆ เอาเปรียบผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยอาศัยวิกฤตทางการเงินของบริษัท ย. ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและความสมบูรณ์ของสัญญาอันอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ทั้งเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วตั้งแต่มูลเหตุที่มาของการทำสัญญาต่าง ๆ ในคดีนี้ รายละเอียดเนื้อหาและความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างสัญญาเหล่านั้น รวมถึงคู่สัญญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดแล้วเห็นว่าสัญญาต่าง ๆ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่อาศัยรากฐานจากสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประเทศไทย โดยข้อคัดค้านในส่วนนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รับฟังไม่ได้ตามที่ต่อสู้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ นอกจากนี้ เรื่องอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยรวมที่อ้างว่าผู้ร้องได้รับในอัตราร้อยละ 133 ต่อปี นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็เพิ่งหยิบยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ทั้งที่ในชั้นอนุญาโตตุลาการและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างถึงอัตราร้อยละ 33 ต่อปี มาตลอด จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบและเป็นข้ออุทธรณ์ที่ต้องห้าม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้เช่นกัน
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างต่อไปว่า คำชี้ขาดกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทบต้นฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เนื่องจากตามคำชี้ขาดข้อ 283 กำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใน (1) ความเสี่ยงภัยของเทล (TAEL Exposure) (2) บรรดาต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (Unpaid Costs and Expenses) (3) ผลตอบแทนการมีส่วนร่วมที่ค้างชำระ (Participation Return Outstanding) และ (4) ดอกเบี้ยผิดนัด (Default Interest) แต่คำชี้ขาดมีการนำผลรวมของเงินค้างชำระคือ (1) ความเสี่ยงภัยของเทล (2) บรรดาต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และ (3) ผลตอบแทนการมีส่วนร่วมที่ค้างชำระ มาคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2558 อันเป็นวันที่มีคำชี้ขาด คิดเป็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 26,880,477.63 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีผลรวมของเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชอบตามคำชี้ขาดเป็นจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งเมื่อพิจารณาตารางการคิดดอกเบี้ยที่ผู้ร้องคำนวณจากต้นเงินจำนวนดังกล่าว ก็พบว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยปรากฎตามตารางการคำนวณที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จัดทำขึ้น นั้น เห็นว่า ในส่วนของความเสี่ยงภัยของเทล (TAEL Exposure) ซึ่งเป็นเงินที่สัญญาการเข้าร่วมกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แก่ผู้ร้อง ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และผลตอบแทนการมีส่วนร่วมที่ค้างชำระนั้น ได้ความตามที่อนุญาโตตุลาการและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้แล้วว่า เงินทั้งสามส่วนดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยแต่เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระให้แก่ผู้ร้องไม่ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะผิดสัญญาหรือไม่ การนำเงินสามส่วนแรกนี้มาคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่มีคำชี้ขาดจึงไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยทบต้น ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยหลังจากวันที่มีคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่ามีการคิดดอกเบี้ยทบต้น นั้น เห็นว่า ตามคำชี้ขาดข้อ 182 อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยถึงความชัดแจ้งของสัญญาการเข้าร่วมข้อ 12 หัวข้อ "ดอกเบี้ยผิดนัด (Default Interest)" ข้อ 12 (บี) ซึ่งระบุว่า "Default Interest (if unpaid) arising on overdue amount will be compounded with the overdue amount from the first anniversary of the date on which such unpaid interest fell due" อันหมายความว่า "ดอกเบี้ยผิดนัด (หากไม่ชำระ) ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ค้างชำระนั้น สามารถคิดทบต้นกับเงินที่ค้างชำระได้ในวันครบกำหนดดอกเบี้ยค้างชำระเมื่อครบรอบปีแรก" อนุญาโตตุลาการเห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวทำให้ผู้ร้องสามารถคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ และเห็นด้วยกับผู้ร้องที่ขอให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายปี (Annual Basis) โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รับภาระน้อยที่สุด ดังนี้ คำชี้ขาดในส่วนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมกับต้นเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณของปีถัดไป อันเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้ฟังขึ้น
และที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า คำชี้ขาดไม่เป็นไปตามสัญญาการเข้าร่วม เนื่องจากในคำชี้ขาดไม่ได้วินิจฉัยและทำคำชี้ขาดให้หักหนี้ในกรณีที่บริษัท ย. ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไป ทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระหนี้ซ้ำซ้อนเกินกว่ามูลหนี้ที่แท้จริง โดยอ้างว่าลักษณะของสัญญาการเข้าร่วมเป็นสัญญาค้ำประกันของสัญญาสินเชื่อสะพานเชื่อมปรับโครงสร้าง คำชี้ขาดจึงไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (4) และขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ไว้ตามคำชี้ขาดข้อ 187 ถึง 191 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้และแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งโดยอาจสรุปได้ 4 ประการ คือ (1) การที่สัญญากำหนดให้ใช้กฎหมายอังกฤษนั้นเป็นการไม่สุจริต สัญญาต่าง ๆ เป็นโมฆะและไม่อาจใช้บังคับได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายไทย (2) ผู้ร้องเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อลวงให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญา ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเลิกสัญญา (3) ผู้ร้องมีหน้าที่โดยปริยายที่ต้องฟื้นฟูกิจการบริษัท ย. ให้สำเร็จภายใน 18 เดือน นับแต่วันทำสัญญา เมื่อผู้ร้องผิดหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่สามารถเรียกให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รับผิดได้ และ (4) ข้อกำหนดเกี่ยวกับเบี้ยปรับหรือผลตอบแทนของผู้ร้องที่เท่ากับเบี้ยปรับนั้นไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งจากข้อต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่พบว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การเรื่องการหักหนี้ในส่วนของบริษัท ย. หรือภาระการชำระหนี้ที่ซ้ำซ้อนดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ จึงไม่มีประเด็นที่อนุญาโตตุลาการต้องวินิจฉัยและทำคำชี้ขาด นอกจากนี้ข้ออ้างดังกล่าวยังมีส่วนของข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบรายละเอียดในข้อสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐานโดยศาลไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยได้ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการ ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 เช่นกัน ทั้งเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 43 (4) แต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างมาเป็นข้อสุดท้ายว่า คำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเกินขอบเขตคำชี้ขาด โดยผู้ร้องขอให้บังคับการจำนำหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 รวมมาในคำร้อง ทั้งที่ตามคำชี้ขาดไม่ได้บังคับจำนำหุ้นตามสัญญาจำนำหุ้น และผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ก็มิได้เป็นคู่พิพาทตามคำชี้ขาดนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องขอในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจำนำหุ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ คงให้เหลือเฉพาะประเด็นการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ออกจากสารบบความไป ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ข้างต้นแล้วว่าคำสั่งดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นอกจากประเด็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนอื่นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนอื่นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อ้างแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์คำพิพากษาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
เมื่อสัญญาการเข้าร่วมข้อ 12 กำหนดให้นำดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาร้อยละ 3 คิดทบต้นกับยอดเงินที่ค้างชำระ เป็นข้อตกลงที่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คงมีหน้าที่ชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แบบไม่ทบต้นของต้นเงินจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 อันเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อ (ก) เป็นว่า ในส่วนหนี้เงินจำนวน 143,416,077.24 ดอลลาร์สหรัฐให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระแก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น และเมื่อคำนวณถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ต้องไม่เกินจำนวน 336,072,131.75 ดอลลาร์สหรัฐ ตามคำขอ ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อ (ง) ซึ่งเป็นการนำดอกเบี้ยสะสมเข้าไปรวมกับยอดเงินในข้อ (ก) แล้วคิดดอกเบี้ยทบเข้าไปอีก ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามข้อ (ข) (ค) และ (จ) และนอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ