คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 35, 52 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 22, 144 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 25, 26, 65, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4, 5, 8, 33, 83, 91, 264, 265, 268, 295, 310 ทวิ, 312 ทวิ ริบหนังสือคนประจำเรือปลอมของกลาง ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 158,000 บาท 164,500 บาท และ 118,000 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 158,000 บาท 164,500 บาท 118,000 บาท 187,000 บาท 197,000 บาท 197,000 บาท 187,000 บาท และ 187,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 187,000 บาท 197,000 บาท 197,000 บาท 187,000 บาท และ 187,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (ที่ถูก มาตรา 265 (เดิม)), 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 (ที่ถูก มาตรา 265 (เดิม)), 83 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 25 วรรคหนึ่ง, 26 วรรคหนึ่ง, 65, 66 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 22, 144 (3) อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 (ที่ถูก มาตรา 265 (เดิม)) แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่ตามกำหนดเวลา คนละ 1 ปี ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร ไม่แจ้งกำหนดเวลาที่พาหนะออกจากเขตท่า สถานี หรือท้องที่ตามที่แบบกำหนด คนละ 2 เดือน ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร ไม่ยื่นแบบรายการที่กำหนด คนละ 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ฐานเป็นนายจ้างรับบุคคลอายุไม่เกินสิบหกปีและสิบแปดปีทำงานประมงในทะเล โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีกำหนด 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบหนังสือคนประจำเรือปลอม จำนวน 3 ฉบับ ของกลาง
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกสถานหนึ่ง ฐานใช้เอกสารราชการปลอม ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่ตามกำหนดเวลา ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร ไม่แจ้งกำหนดเวลาที่พาหนะออกจากเขตท่า สถานี หรือท้องที่ตามที่แบบกำหนด ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานนำพาหนะออกนอกราชอาณาจักร ไม่ยื่นแบบรายการที่กำหนด ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างรับบุคคลอายุไม่เกินสิบหกปีและสิบแปดปีทำงานประมงในทะเล โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 25,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 55,000 บาท โทษจำคุกในแต่ละกระทงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นางสาวกัลยารัตน์ บุตรจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏตามมรณบัตรท้ายคำร้อง โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือประมงชลสมบัติ 8 มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมเรือหรือไต้ก๋งเรือ และมีจำเลยที่ 3 เป็นนายท้ายเรือ นายทะนงศักดิ์หรือแอ้ด เป็นหัวหน้าแรงงานประมงทำงานในเรือ จำเลยที่ 1 ควบคุมเรือประมงชลสมบัติ 8 พาผู้เสียหายทั้งแปดไปทำการประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 4 และที่ 5 อายุ 17 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 6 อายุ 16 ปีเศษ ขณะเรือประมงชลสมบัติ 8 จอดอยู่บริเวณท่าเรือเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาตรวจสอบหนังสือคนประจำเรือของผู้เสียหายทั้งแปดปรากฏว่ามีการปลอมเอกสารหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเอกสารราชการของกรมเจ้าท่าขึ้นทั้งฉบับ รวม 3 ฉบับ กล่าวคือ ปลอมหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่าเลขที่ BF 34497 โดยนำภาพถ่ายของผู้เสียหายที่ 1 มาทำให้ปรากฏในเอกสารดังกล่าวและใส่ชื่อคนประจำเรือว่า นายลาด พร้อมทั้งประทับตราปลอมของกรมเจ้าท่า และลงลายมือชื่อปลอมของเจ้าพนักงานเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่าที่แท้จริง ปลอมหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่าเลขที่ BF 35521 โดยนำภาพถ่ายของผู้เสียหายที่ 3 มาทำให้ปรากฏในเอกสารดังกล่าว และใส่ชื่อคนประจำเรือว่า นายสุวันโมนี พร้อมทั้งประทับตราปลอมของกรมเจ้าท่า และลงลายมือชื่อปลอมของเจ้าพนักงานเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่าที่แท้จริง และปลอมหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่า เลขที่ DF 12793 โดยนำภาพถ่ายของผู้เสียหายที่ 2 มาทำให้ปรากฏในเอกสารดังกล่าว และใส่ชื่อคนประจำเรือว่า นายสมพงษ์ พร้อมทั้งประทับตราปลอมของกรมเจ้าท่า และลงลายมือชื่อปลอมของเจ้าพนักงานเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือคนประจำเรือของกรมเจ้าท่าที่แท้จริง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สาธารณรัฐอินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิต (LPN) จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยได้ช่วยเหลือส่งตัวผู้เสียหายทั้งแปดกลับประเทศไทย ผู้เสียหายทั้งแปดแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามกับพวก เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมนำผู้เสียหายทั้งแปดเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามกับพวกเป็นคดีนี้ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้ และก่อนออกเรือไปทำการประมงจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้ผู้เสียหายทั้งแปดไปแล้ว
กรณีมีปัญหาที่สมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฎีกาของโจทก์ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 48 บัญญัติว่า "บรรดาคดีค้ามนุษย์ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด" แม้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้สำนวนแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับก็ตาม แต่ปรากฏว่า ก่อนฟ้องคดีต่อศาลและก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 โดยวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ศาลชั้นต้นสืบพยานรายผู้เสียหายที่ 1 ไว้ล่วงหน้าแล้ว ย่อมถือว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ มาใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ดังนั้น การฎีกาของโจทก์ย่อมเป็นไปตามสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่กรณีต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6, 9, 10, 52 และยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 ทวิ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม และที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องนั้น ต้องห้ามคู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แต่ตามหนังสือรับรองของอัยการสูงสุดแนบท้ายคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่า อัยการสูงสุดรับรองว่า ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย จึงให้รับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยโจทก์ไม่ต้องขออนุญาตฎีกาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 43
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือไม่ โดยโจทก์อ้างในฎีกาทำนองว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.4 นั้น จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดลงเรือไปทำการประมงที่น่านน้ำของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งแตกต่างจากการอ้างว่าจะไปทำการประมงในจังหวัดภาคใต้ แม้ผู้เสียหายบางคนทราบว่าต้องไปทำการประมงในน่านน้ำของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่สภาพการทำงานก็มีการหน่วงเหนี่ยว กักขัง ทำร้ายร่างกาย มีการปลอมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามสมคบกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เห็นว่า ในส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีการหลอกลวง ฉ้อฉลผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า มีผู้ไปติดต่อชักชวนผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานในเรือประมง ผู้ที่มาชักชวนและคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบางคนก็เกี่ยวพันเป็นญาติกับฝ่ายผู้เสียหาย เป็นการชักชวนตามปกติ เมื่อตกลงไปทำงานก็มีการเปิดบัญชีธนาคารและจ่ายเงินให้บางส่วน ผู้เสียหายบางคนที่เป็นเด็ก มารดาก็ไปส่งและพบกับจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล หลอกลวงแต่อย่างใด เกี่ยวกับลักษณะของงาน ผู้เสียหายทั้งแปดก็รับรู้เกี่ยวกับประเภทของงานว่าเป็นการทำงานในเรือประมงและสมัครใจที่จะไปทำงาน การทำการประมงในจังหวัดภาคใต้หรือในน่านน้ำของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ลักษณะการทำงานของผู้เสียหายทั้งแปดก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของลักษณะงาน เมื่อมีการขึ้นฝั่งที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผู้เสียหายทั้งแปดก็ยังมีอิสระในการไปจับจ่ายซื้อของ มีการติดต่อทางโทรศัพท์กับญาติหลายครั้ง ต่างเวลาและสถานที่รวมทั้งที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียด้วย ค่าจ้างก็มีการจ่ายล่วงหน้าให้ผู้เสียหายทั้งแปดและจ่ายบนเรือให้ผู้เสียหายบางคนอีก ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการข่มขู่บังคับให้ทำงานเกินกว่าหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องกระทำแต่อย่างใด การทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งแปดก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แน่ชัดในส่วนนี้ โดยเฉพาะปรากฏว่า ผู้เสียหายทั้งแปดยังไม่ได้ทำงานประมงในเรือแท้จริงเพราะเรือยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จึงเพียงแต่ฝึกหัดเตรียมการที่จะทำงาน และผู้เสียหายบางคนมีเวลาไปรับจ้างขนปลาจากเรือประมงอื่นด้วย จึงยังไม่ชัดแจ้งว่า มีการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งแปดทำงานโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย โดยขู่เข็ญ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ อันจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานค้ามนุษย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายทั้งแปด โดยเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่ารอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อ้างในฎีกาทำนองว่า พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการทำการประมงนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงาน มีการรับลูกจ้างที่เป็นเด็กไปทำงานประมง มีการปลอมเอกสาร พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง เห็นว่า แม้จะมีกรณีของการจ้างแรงงานเด็ก แต่ดังที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่มีการบังคับใช้แรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารก็มีการว่าจ้างตัวแทนในต่างประเทศจัดทำเอกสารเพื่อให้สามารถเข้าไปทำการประมงได้ ไม่ใช่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องจัดทำโดยตรง พฤติการณ์จึงยังไม่ถึงขนาดร้ายแรง เมื่อพิเคราะห์สภาพของการกระทำ การยอมรับเกี่ยวกับการกระทำตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาและนำมาพิเคราะห์ประกอบกับสภาพฐานะประวัติภูมิหลังและปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 สามารถที่จะกลับตนเป็นคนดีได้ สมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 โดยการรอการลงโทษให้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการลงโทษจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน