คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาจ้างทำของ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 37,467,789.89 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (วันที่ 25 ธันวาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 101,770,729.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องเดิมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารโรงแรม ก. แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงแรมที่โจทก์นำยึดและสารบัญโฉนดที่ดินไม่ปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมีคำสั่งให้งดการยึดโรงแรมดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดโรงแรม ก. เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่าขอให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโรงแรมตามคำร้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมตามคำร้องและที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมนั้นก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดโรงแรม ก. แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาจ้าง ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคอนกรีต 23 ชั้น เพื่อเป็นอาคารโรงแรมชั้นหนึ่ง กำหนดแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2535 ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 258,000,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาคารที่ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างดังกล่าวขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม โดยใช้ชื่อว่าโรงแรม ร. โรงแรมประเภท 4 จำนวนห้องพัก 448 ห้อง สถานที่ตั้ง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ต่อจากนั้นวันที่ 9 มกราคม 2555 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กับนางศศิธร ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงแรม ร. เป็นโรงแรม ก. ซึ่งเป็นโรงแรมพิพาท โดยโรงแรมพิพาทก่อสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 477, 478, 10656 ถึง 10661, 23993 ถึง 23998 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ปรากฏชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และโฉนดเลขที่ 2877 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนางสมบุญ กับนายสมศักดิ์ ปรากฏชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้แทนโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดโรงแรมพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการยึดโรงแรมพิพาท สำหรับผู้คัดค้าน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้เช่าอาคารโรงแรมพิพาทไม่มีอำนาจคัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้ฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โรงแรมพิพาทที่โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโรงแรม ก. ที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึด ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น หากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมทำการยึดหรืออายัด ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัด เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรืออายัดก็ได้..."วรรคสาม บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัดตามวรรคหนึ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นทราบและบุคคลดังกล่าวอาจคัดค้านว่า ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้...และให้นำบทบัญญัติมาตรา 323 หรือมาตรา 325 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยหากศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องแล้ว บุคคลดังกล่าวที่ได้ยื่นคำคัดค้านตามวรรคนี้จะใช้สิทธิตามมาตรา 323 หรือ มาตรา 325 แล้วแต่กรณี อีกหาได้ไม่" เช่นนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำยึด กับบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นอันศาลต้องวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ หากได้ความว่า ทรัพย์นั้นเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำคัดค้านว่าทรัพย์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ยึดนั้นมิใช่ของตนหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบ และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ในชั้นขออนุญาตฎีกาจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่ก็ไม่ผูกมัดให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในเนื้อหา เมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 กับพวกอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 2 กับพวก และตามสัญญาจ้างก็ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารในที่ดินได้ แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงแรมพิพาทก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 อาจดำเนินการก่อสร้างแทนบุคคลหนึ่งคนใดหรือรับจ้างบริหารแทนผู้อื่นก็เป็นได้ โรงแรมพิพาทตกเป็นส่วนควบของที่ดินเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงแรมพิพาท อีกทั้งในสำนวนคดีหลัก ศาลฎีกาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าก่อสร้างไม่ได้วินิจฉัยว่าโรงแรมพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมพิพาท โจทก์ยื่นคำร้องเพื่อโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอให้ศาลไต่สวนว่าทรัพย์ที่ขอยึดเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องแสดงให้ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นควรงดดำเนินการยึดทรัพย์นั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร แต่โจทก์กลับไม่มีนำสืบพยานให้ศาลเห็นในประเด็นดังกล่าว และจำเลยที่ 2 กับเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมพิพาทได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์โรงแรมพิพาท นั้น ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ก่อนว่า โจทก์ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอให้ศาลไต่สวนว่าทรัพย์ที่ขอยึดเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องนำสืบพยานให้ศาลเห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นควรงดดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น หากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมทำการยึดหรืออายัด ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัด เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรือการอายัดก็ได้..." และวรรคสามบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัดตามวรรคหนึ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นทราบและบุคคลดังกล่าวอาจคัดค้านว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับสำเนาคำร้อง..." จากบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะคัดค้านคำสั่งที่ไม่ทำการยึดหรืออายัดในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพราะมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น และเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมทำการยึดหรืออายัด ซึ่งในการยื่นคำร้องดังกล่าว โจทก์ได้กล่าวชัดแจ้งแล้วว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 101,770,729.32 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน 2561 โจทก์แถลงยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือ อาคารโรงแรม ก. แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พร้อมอุปกรณ์ของอาคารดังกล่าว ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 477, 478, 10656 ถึง 10661, 23993 ถึง 23998 และ 2877 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า ตามเอกสารใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างและตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินไม่ปรากฏว่ามีชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด กรณีมีเหตุสงสัยในการดำเนินการว่าทรัพย์ที่โจทก์แถลงให้ยึดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่สามารถดำเนินการตามคำขอได้ หากโจทก์ประสงค์จะคัดค้านให้ดำเนินการทางศาล โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี และประสงค์จะคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังที่ระบุไว้ในคำร้องข้อ 2 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาคารโรงแรม ก. พร้อมอุปกรณ์ของอาคาร เป็นของจำเลยที่ 1 และในคำร้องคัดค้านข้อ 2 ได้กล่าวถึงเหตุที่แสดงว่าทรัพย์ที่โจทก์ขอให้ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ได้แก่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวทั้งหมด โดยการสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ตามงบการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏทรัพย์สินไม่หมุนเวียนของบริษัทได้แก่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มีมูลค่าสูงเกินกว่า 200,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงแรมเพียงแห่งเดียว คือ โรงแรม ก. ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า โรงแรม ร. และขณะนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ยังคงเผยแพร่โฆษณาสมัครงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ระบุว่า โรงแรม ก. เป็นของจำเลยที่ 1 คำร้องของโจทก์ได้กล่าวอ้างมูลเหตุ ที่มาในการยื่นคำร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคหนึ่ง พร้อมทั้งเหตุผลในการสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวและตามคำร้องคัดค้าน โจทก์ได้ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารโรงแรม ก. แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พร้อมอุปกรณ์ของอาคารเพื่อนำทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ต่อไป คำร้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคสาม ส่วนทางไต่สวนนั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็เพียงพอแล้ว โจทก์หาจำต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นควรงดการยึดทรัพย์สินนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรด้วยไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 กับเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมพิพาทได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 นั้น เห็นว่า ในชั้นนี้ประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกันมีแต่เพียงว่า โรงแรมพิพาทที่โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่เท่านั้น โจทก์ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมพิพาทด้วย จำเลยที่ 2 จะยกเอาข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ขึ้นมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมพิพาทหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโรงแรมพิพาทนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโรงแรมพิพาทเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทและที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมพิพาทไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทก็ตาม แต่การขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 (1) โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งคือ การควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคาร ลำพังการเป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรม มิใช่กรณีที่จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว ผู้นั้นเป็นเจ้าของอาคาร หรือผู้ใดไม่ได้เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว ผู้นั้นจะไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารนั้นด้วย หากแต่ความเป็นเจ้าของนั้นต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แวดล้อมอื่นประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาคารคอนกรีต 23 ชั้น ที่ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างนั้น ขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมโดยใช้ชื่อว่าโรงแรม ร. ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อโรงแรมพิพาทในเวลาต่อมา ซึ่งการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมนั้น พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า "การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด" และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 กำหนดไว้ว่า "ในกรณีต่อไปนี้ให้นายทะเบียนพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรม (1)... (4) ที่ดินและอาคารที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงแรมผู้ขออนุญาตไม่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือไม่มีสิทธิครอบครองหรือไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารดังกล่าว เช่น สิทธิในการเช่า การยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นต้น (5)..." จากบทบัญญัติและประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว การขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมนั้น หาจำเป็นต้องให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมด้วยไม่ เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมก็เพียงพอแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทั้งผู้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารที่ใช้เป็นโรงแรมพิพาทและเป็นผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรม แม้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงแรมก็ตาม แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ และข้อเท็จจริงปรากฏตามใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (แบบ อ.1) ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 ตามเอกสารแนบรายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นในสำนวนคดีนี้ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึก 23 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้นในที่ดินตามโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 และของนางสมบุญเจ้าของที่ดินในขณะนั้น เพื่อใช้เป็นอาคารโรงแรมและจอดรถยนต์ สอดคล้องกับสัญญาจ้างที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคอนกรีต 23 ชั้น เพื่อใช้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง แม้การขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในนามของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินกิจการต่าง ๆ ให้ต้องตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเพื่อใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง และแสดงให้เห็นได้โดยปริยายว่า จำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมพิพาทจากจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทและขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนแล้ว มิฉะนั้น จำเลยที่ 1 คงไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนเป็นแน่ทั้งนางสมบุญเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงแรมพิพาทบางส่วนก็มิได้คัดค้านเข้ามาในคดีว่าตนไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเข้าไปในที่ดินของตนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และนางสมบุญยินยอมให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 2 และนางสมบุญ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารโรงแรมพิพาทได้ โรงแรมพิพาทไม่ตกเป็นส่วนควบกับที่ดินโฉนดเลขที่ 477, 478, 10656 ถึง 10661, 23993 ถึง 23998 และ 2877 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 เมื่อโรงแรมพิพาทไม่ตกเป็นส่วนควบกับที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมพิพาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างโรงแรมพิพาทและเป็นผู้ตกลงชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์มาตั้งแต่ต้น ตลอดทั้งเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและได้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยใช้โรงแรมพิพาทประกอบธุรกิจโรงแรมตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตลอดมา ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1 อ้างสิทธิเหนือโรงแรมพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ต้นที่เริ่มทำงานก่อสร้างโรงแรมพิพาทแล้ว แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโรงแรมพิพาท แต่ก็ไม่ได้ยกเหตุผลขึ้นคัดค้านด้วยว่าผู้ใดเป็นเจ้าของโรงแรมพิพาทที่แท้จริง ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า โรงแรมพิพาทที่โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดนั้น เป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดอาคารโรงแรมพิพาทต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดโรงแรมพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำคัดค้านและฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ