โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 335, 357 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 7,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษให้ตามมาตรา 78หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ยกคำขอในส่วนที่ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจรเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์นำสืบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่จับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ห่างจากจุดที่พบจำเลยทั้งสามประมาณ 100 เมตร และจุดที่พบจำเลยทั้งสามนั้นอยู่ห่างจากกระบือที่ผูกซ่อนไว้ในป่าละเมาะประมาณ 3-4 เมตร นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 3 มาอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยเหตุใดก็ไม่ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เอกสารหมาย จ.6 และจ.7 ก็ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับซื้อกระบือจากนายลำยองส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ซื้อด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองกระบือที่รับซื้อ ลำพังแต่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขณะถูกจับเพียงเท่านั้นยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองกระบือแม้จะได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า เมื่อซื้อกระบือจากนายลำยอง แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พบจำเลยที่ 3 และได้ร่วมปรึกษากันว่าจะหาเงินให้นายลำยอง อย่างไร จะเอากระบือไปขายที่ไหน เมื่อขายได้แล้วจะเอากำไรมาแบ่งกัน และได้ความจากที่โจทก์นำสืบว่าวันต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พาจำเลย ที่ 3 ไปดูกระบือที่ผูกซ่อนไว้ในป่าละเมาะแล้วจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ก็ตามก็เป็นเพียงการตระเตรียมของจำเลยที่ 3 ที่จะร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้นจำเลยที่ 3 ยังไม่ลงมือกระทำความผิด คือ ยังไม่ได้ช่วยขายกระบือหรือรับกระบือไว้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับเสียก่อน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน.