โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5, 83, 91, 309, 310 ทวิ, 320 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ คม.15/2559 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ คม.15/2559 คดีอาญาหมายเลขดำที่ คม.71/2559 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ ค.2/2559 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 52 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 ทวิ, 320 (ที่ถูก มาตรา 320 วรรคแรก) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น และฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 2,100 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 5 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 1,400 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอให้นับโทษต่อและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายปัญญา ผู้เสียหายลงไปในเรือรัฐพร 5 หรือเรือแอนตาซีน่า 330 เรือดังกล่าวซึ่งมีนายเหวอเป็นไต้ก๋ง และจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าคนงาน ออกจากท่าเรือในราชอาณาจักรไปที่เกาะเบนจิน่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เรือดังกล่าวออกไปหาปลาในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยผู้เสียหายทำงานเป็นคนอวน มีหน้าที่ปะอวน ลงอวน และคัดปลา ภายหลังขณะที่เรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่ง ผู้เสียหายหลบหนีจากเรือและอยู่ในสาธารณรัฐอินโดนีเซียจนถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และผู้เสียหายถูกส่งตัวกลับราชอาณาจักรเมื่อปลายปี 2554 หลังจากนั้นผู้เสียหายไปทำงานเป็นคนประจำเรือในเรืออื่นที่ออกไปหาปลาในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซียอีก วันที่ 9 เมษายน 2558 ผู้เสียหายซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียจับกุมและส่งตัวกลับราชอาณาจักร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับคำร้องของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายทำงานบนเรือรัฐพร 5 แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง สำหรับความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติด้วยว่า จำเลยที่ 3 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพื่อบังคับให้ทำงานเป็นลูกเรือในเรือดังกล่าว จนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และเกรงกลัวต้องยอมทำงาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ฎีกาของโจทก์ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 48 บัญญัติว่า "บรรดาคดีค้ามนุษย์ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด" แม้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับก็ตาม แต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาลและก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 31 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ศาลชั้นต้นสืบพยานรายผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าแล้ว ย่อมถือว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับมาใช้บังคับต่อไป ดังนั้น การฎีกาของโจทก์ย่อมเป็นไปตามระบบสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่ระบบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 ทวิ, 320 วรรคแรก แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับความผิดฐานดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 10 และที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าว ต้องห้ามคู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แต่ตามหนังสือรับรองของอัยการสูงสุดแนบท้ายคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่าอัยการสูงสุดรับรองว่าฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย พอถือได้ว่าอัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย จึงให้รับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยโจทก์ไม่ต้องขออนุญาตฎีกา
พิพากษายืน