ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ชม.30/2562 หมายเลขแดงที่ ชม.61/2563 ที่ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เสนอข้อพิพาทตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับ เป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่คำวินิจฉัยชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในชั้นอนุญาโตตุลาการให้ผู้ร้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท ส่วนผู้คัดค้านเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและทายาทโดยธรรมของนายพิชิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 นายพิชิตทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคจากธนาคารออมสินจำนวน 120,000 บาท โดยนายพิชิตทำสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับผู้ร้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 14001-799-141325822 ระบุให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลาประกันภัยเริ่มวันที่ 25 มิถุนายน 2557 สิ้นสุดวันที่ 25 มิถุนายน 2562 จำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วไป 300,000 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแนบท้าย เอกสารหมาย ร.2 แผ่นที่ 54 ถึง 83 และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นายพิชิตทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคจากธนาคารออมสินอีก 40,000 บาท โดยนายพิชิตทำสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับผู้ร้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 14001-799-161508756 ระบุให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลาประกันภัยเริ่มวันที่ 24 มิถุนายน 2559 สิ้นสุดวันที่ 25 มิถุนายน 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วไป 300,000 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแนบท้ายเอกสารหมาย ร.2 แผ่นที่ 84 ถึง 99 วันที่ 5 ธันวาคม 2560 นายพิชิตเสียชีวิตจากการจมน้ำในคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาธนาคารออมสินมีหนังสือให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับที่นายพิชิตทำไว้ ผู้คัดค้านเรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ผู้ร้องปฏิเสธโดยเห็นว่าตามเอกสารหลักฐานการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพบแอลกอฮอล์ในน้ำในลูกตาเท่ากับ 424 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงมิได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยเข้าข้อยกเว้นความสูญเสียอันเกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา ต่อมาผู้คัดค้านชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับให้แก่ธนาคารออมสินเสร็จสิ้นแล้ว วันที่ 5 เมษายน 2562 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ชม.30/2562 ขอให้ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่มีข้อตกลงไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย นับแต่วันยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยทั้งสองฉบับไม่คุ้มครองเนื่องจากเป็นการกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และผู้เสนอข้อพิพาทไม่มีส่วนได้เสียเนื่องจากไม่ใช่ผู้รับประโยชน์จึงไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท ขอให้ยกคำเสนอข้อพิพาท วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ชม.61/2563 โดยวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิเสนอข้อพิพาท และไม่มีเงื่อนไขที่ผู้ร้องจะปฏิเสธความรับผิด จึงชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับ เป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่คำวินิจฉัยชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องมีหนังสือขอให้พิจารณาแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำชี้ขาด โต้แย้งผลลัพธ์การคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อน และการให้ผู้ร้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการอ้างตามคำสั่งนายทะเบียนที่ไม่ได้ใช้กับกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยและยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคำร้องนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายพิชิตทำสัญญาประกันภัยพิพาททั้งสองฉบับกับผู้ร้องโดยระบุให้ธนาคารออมสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นผู้รับผลประโยชน์ กรณีจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้น ตราบใดที่บุคคลภายนอกยังไม่ได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น คู่สัญญาก็อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิตามสัญญานั้นได้ เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าธนาคารออมสินได้แสดงเจตนาต่อผู้ร้องเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทั้งสองฉบับ ทั้งหลังจากนายพิชิตเสียชีวิต ผู้คัดค้านก็ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับที่ผู้ตายทำกับธนาคารออมสินไว้จนเสร็จสิ้นแล้ว ยิ่งทำให้เห็นได้ว่าธนาคารออมสินสละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยทั้งสองแล้ว นายพิชิตและผู้ร้องจึงเป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป เมื่อนายพิชิตเสียชีวิต ประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันภัยจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายพิชิตผู้เอาประกันภัย ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาและทายาทโดยธรรมของนายพิชิตย่อมสามารถเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเสนอข้อพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนของปริมาณแอลกอฮอล์จากน้ำในลูกตาของคณะอนุญาโตตุลาการผิดพลาด การชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจอันมิได้ประกอบด้วยเหตุผลอันชอบธรรม เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการพิจารณาตามอำเภอใจ หรือจงใจที่จะตัดสินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักธรรมนั้น คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการตั้งประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้เอาประกันภัยจมน้ำตายอันเกิดจากการเสพสุราจนมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินกว่าความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ และผู้ร้องจะต้องรับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่ เห็นว่า ในข้อนี้ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นทั่วไป ระบุเงื่อนไขเช่นเดียวกันว่า "การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง 1. ความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากหรือสืบเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 1.1 การกระทำของผู้ได้รับความคุ้มครองขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติด หรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้ คำว่า "ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา" นั้น ในกรณีที่มีการตรวจเลือดให้ถือเกณฑ์มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ..." เมื่อคดีนี้ไม่มีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีย่อมมีข้อที่ต้องพิจารณาเพียงว่าผู้ตายอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราจนไม่สามารถครองสติได้หรือไม่เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยการเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการ แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่อุทธรณ์ข้างต้นของผู้ร้องล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งเรื่องการคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนของปริมาณแอลกอฮอล์จากน้ำในลูกตาก็มิใช่วิธีการตามที่กรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับระบุไว้ อุทธรณ์ในส่วนนี้ย่อมไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้ และที่อ้างทำนองว่าคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาตามอำเภอใจเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจตัดสินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักธรรมนั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน สำหรับที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทโดยอ้างคำสั่งนายทะเบียนที่ 28/2552 ซึ่งเป็นคำสั่งบังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่ตรงกับสัญญาประกันภัยในคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว แต่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า หนี้เงินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 (เดิม) กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น และต่อมามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และ 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน มีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการขอให้ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่มีข้อตกลงไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องโต้แย้งว่าคำสั่งดังกล่าวของนายทะเบียนนั้นใช้เฉพาะเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจเท่านั้น ไม่ใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยในคดีนี้ แต่ประเด็นนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านโดยมิได้ให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งสองฉบับและเอกสารแนบท้ายตามเอกสารหมาย ร.2 แผ่นที่ 54 ถึง 99 พบว่ากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดไว้ ส่วนคำสั่งของนายทะเบียนที่ 28/2552 ที่ผู้คัดค้านอ้างนั้น เมื่อพิจารณาคำสั่งดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.2 แผ่นที่ 36 ถึง 38 ก็ปรากฏว่า เป็นเรื่อง "ให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ" ซึ่งไม่ตรงกับการประกันภัยในคดีนี้ การที่คำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 กำหนดไว้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลชั้นต้นไม่เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนอัตราดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในส่วนนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งซึ่งกฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ประกอบมาตรา 149 วรรคหนึ่ง และอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้ มิใช่กรณีที่เมื่อผู้คัดค้านมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีมาด้วยนั้นชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นแล้ว มิได้ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ชม.30/2562 หมายเลขแดงที่ ชม.61/2563 เฉพาะส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้บังคับได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่คำชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ