คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย และยื่นคำร้องขออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะได้รับจากบริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินตามคำร้องขอ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เงินที่ศาลชั้นต้นอายัดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแล้วเนื่องจากจำเลยที่ ๑ โอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัด
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอเพิกถอนการอายัด และการโอนสิทธิเรียกร้องกระทำโดยใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริต และผู้ร้องมีส่วนได้เสียมีสิทธิขอเพิกถอนอายัดได้ มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าของผู้ร้อง สาขาพลับพลาชัย มีนายเสวก ปานสุรการ เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ ๑ เปิดสินเชื่อไว้กับผู้ร้อง โดยนำตั๋วสัญญาใช้เงิน ๑๐ ฉบับ มาทำสัญญาแลกเงินสดไปจากผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ และตกลงให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังมีคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับผู้ร้อง และมีสินค้ามาถึงแล้วไม่ยอมชำระหนี้ จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับผู้ร้อง และจำเลยที่ ๑ ยังเป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทประมาณ ๑๐ ฉบับ รวมเป็นเงินประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ แต่จำเลยที่ ๑ นำที่ดินมาจำนองและพาบุคคลมาค้ำประกันหนี้ไว้กับผู้ร้อง ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขายและติดตั้งลิฟท์ให้แก่บริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด ในราคาประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับชำระราคาบางส่วน ยังมีเงินที่ค้างชำระอยู่อีกจำนวน ๕๒๘,๐๐๐ จึงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนวนนี้ให้แก่ผู้ร้องในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗ และได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด ทราบ แต่มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอายัดสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวก่อนศาลมีคำพิพากษาและในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลได้มีคำสั่งอายัดตามที่โจทก์ขอ และเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ ผู้ร้องมอบอำนาจให้นางอารีรัตน์ ชิวธนาสุนทร ไปรับเงินจากบริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด แต่ได้รับแจ้งว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกศาลสั่งอายัดไว้ชั่วคราวแล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องใช้บังคับไม่ได้ เพราะในวันที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น สิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อบริษัทบิกเบลล์ จำกัด ยังไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คงมีข้อที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้กระทำโดยไม่สุจริต และทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่และการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับผู้ร้องโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ และโจทก์มิได้ยินยอมด้วยจะใช้บังคับได้หรือไม่
ในข้อวินิจฉัยข้อแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วสรุปว่า....คดีฟังไม่ได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับผู้ร้องได้กระทำโดยไม่สุจริตและทำให้โจทก์เสียเปรียบ
สำหรับในประเด็นที่ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับผู้ร้องมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ และโจทก์มิได้ยินยอมด้วยจะใช้บังคับได้หรือไม่นั้นเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ คงบังคับแต่เพียงให้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือให้ลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องแจ้งแก่เจ้าหนี้หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับผู้ร้องตามที่ปรากฏมาแล้วข้างต้น จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับได้
พิพากษายืน