โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1 กับพวกเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางตามคดีหมายเลขดำที่ 1921/2553 โดยจำเลยร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าบริษัท ส. ผิดสัญญา ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่จำเลยได้ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย หลังจากนั้นล่วงเลยมาร่วมสองปี จำเลยก็ไม่ได้รับผลการพิจารณา จำเลยมีหนังสือติดตามผลการพิจารณาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แจ้งว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา จนกระทั่งถึงวันฟ้องเป็นเวลาเก้าปีเศษจำเลยมิได้รับผลการพิจารณาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า จำเลยประสงค์จะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเนื่องจากพิจารณาหนังสือร้องเรียนของจำเลยล่าช้า ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย มิใช่คดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) การฟ้องคดีดังกล่าวต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งก็คือวันที่จำเลยรู้หรือควรรู้ถึงการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดประกอบกับการฟ้องคดีนี้มิใช่การยื่นคำฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดยมีนายชาญชัย นายนพดล นายสุชาติ นายมนูญ และนายสมรรถชัย ผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต่อมาจำเลยทำหนังสือเรื่องขอให้ผู้เสียหายทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย อันเนื่องมาคำสั่งดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยประการแรกที่ว่า นายวิเชษฐ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้ฎีกาโดยมิใช่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ผู้เป็นโจทก์ ดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) จึงไม่มีอำนาจฎีกา นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (14) ได้บัญญัติให้นิยามไว้ว่า "โจทก์" หมายถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน และมาตรา 2 (5) ได้บัญญัติว่าให้นิยามไว้ว่า "พนักงานอัยการ" หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ หมายถึงพนักงานอัยการซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล และพนักงานอัยการหมายถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลย่อมมีอำนาจเรียงหรือแต่งฟ้องและลงลายมือชื่อในฟ้องและฎีกาได้ด้วยเพราะฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามคำนิยามในมาตรา 1 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อีกทั้งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 13 บัญญัติให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำอยู่ในราชการส่วนกลางในกรุงเทพมหานครเป็นพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นทุกศาล และมาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานอัยการอื่นที่มิใช่อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการภาค มีอำนาจดำเนินคดีได้เฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำ โดยมีข้อยกเว้นไว้ในอนุมาตรา 3 ว่า เมื่อคดีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินไว้ในศาลชั้นต้นขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีนั้น หรือพนักงานอัยการผู้อื่นซึ่งประจำศาลชั้นต้นนั้นหรือพนักงานอัยการอื่นซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดมีอำนาจดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ ดังนั้น เมื่อนายวิเชษฐเป็นพนักงานอัยการตำแหน่งอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาและผู้เรียงหรือแต่งฎีกา แม้มิใช่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ดำเนินคดีคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม นายวิเชษฐก็ย่อมมีอำนาจเรียงหรือแต่งฎีกาและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาและเรียงฎีกาได้ ฎีกาของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 และ 225 คำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยต่อไปที่ว่า ฎีกาของโจทก์ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นั้น เห็นว่า ฎีกานั้นให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นและให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 มาตรา 200 และ 201 มาใช้บังคับโดยอนุโลมทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคสอง ดังนั้น โดยบทบัญญัติ มาตรา 216 วรรคสอง ประกอบมาตรา 198 วรรคหนึ่ง การยื่นฎีกาต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ซึ่งจะครบกำหนดหนึ่งเดือนในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 แต่ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไป 1 เดือน ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และโจทก์ได้ยื่นฎีกาในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลา การยื่นฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว คำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่และคดีขาดอายุความหรือไม่ นั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งห้าเป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำสั่งในคดีที่จำเลยเป็นผู้ฟ้องคดีและจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ต่อศาลปกครองสูงสุด ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น นั้น เป็นการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ซึ่งคำว่า "ศาลหรือผู้พิพากษา" นั้น มิได้หมายความถึงเฉพาะศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (1) เท่านั้น หากยังมีความหมายรวมถึงศาลหรือตุลาการศาลอื่นซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย เมื่อผู้เสียหายทั้งห้าเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และวรรคสองบัญญัติว่า ให้มีศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น กับมาตรา 188 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และวรรคสองบัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็วเป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง ดังนั้น ผู้เสียหายทั้งห้าจึงเป็นผู้พิพากษาตามความหมายแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ซึ่งการดูหมิ่นผู้พิพากษาอันจะเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้นั้น หมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าในการพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาในสายตาของผู้กระทำการดูหมิ่น ไม่ว่าจะกระทำโดยการดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทก็ตาม โดยไม่จำกัดว่าเป็นการกระทำด้วยการกล่าวถ้อยคำหรือกิริยาหรือลายลักษณ์อักษรหรือวิธีอื่นใด ข้อความตามหนังสือขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยทำขึ้นและส่งไปยังผู้เสียหายทั้งห้าอันเนื่องมาจากกรณีที่ผู้เสียหายทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีที่จำเลยในฐานะผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) นั้น ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า "ตีความและหรือแปลความทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนและขัดแย้งกันเองอันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำโดยสุจริต ยกขึ้นกล่าวซึ่งบทบัญญัติที่ไม่ปรากฏมีบัญญัติในกฎหมายใช้ประกอบการวินิจฉัยมีคำสั่งประหนึ่งบัญญัติกฎหมายขึ้นเองเพื่อใช้กับคดีนี้เป็นการเฉพาะ กระทำการประหนึ่งทนายความผู้แก้ต่างคดีให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี" ข้อความดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้เสียหายทั้งห้ามิได้อาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้วินิจฉัยในการทำคำสั่งแต่กระทำดังหนึ่งเป็นผู้บัญญัติกฎหมายขึ้นเสียเองเพื่อใช้กับคดีของจำเลยเป็นการเฉพาะ อันมีความหมายไปในทางว่า ผู้เสียหายทั้งห้ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ดุจประหนึ่งทำตามอำเภอใจและประพฤติตนเสมือนหนึ่งเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีอันเป็นการไม่เหมาะสมแก่หน้าที่ของตุลาการ ย่อมเป็นการลดคุณค่าในการพิจารณาวินิจฉัยคดีของผู้เสียหายทั้งห้าในฐานะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อความที่ว่า "น่าเชื่อได้ว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ได้มีขึ้นนี้ เป็นผลอันเกิดจากการร่วมกันกระทำขึ้นโดยองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดร่วมกับองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง (ผู้ทำคำสั่งศาลปกครองกลาง) หรือร่วมกับตุลาการศาลปกครองบางท่านในองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางดังกล่าว หรือผลอันเกิดจากองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางหรือตุลาการศาลปกครองกลางบางท่านดังกล่าวเป็นผู้กระทำขึ้นฝ่ายเดียวและจัดให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้เป็นผู้ลงนามคำสั่ง (มิได้เป็นผลอันเกิดขึ้นจากการพิจารณา ดำเนินการเพียงลำพังขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด) ซึ่งหากการเป็นเช่นที่กล่าว ก็จักเห็นได้ว่าการกระทำของตุลาการศาลปกครองกลางผู้ร่วมกระทำเป็นการกระทำโดยมิชอบและหรือโดยทุจริต อันเป็นการกระทำผิดในทางอาญาถึง 2 กรรม (2 กระทง) ต่างกรรมต่างวาระ กล่าวคือ เป็นการกระทำผิดทั้งในชั้นศาลปกครองกลางและในชั้นศาลปกครองสูงสุด" นั้น เป็นการกล่าวหาว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางกับองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดร่วมกันกระทำโดยมิชอบหรือโดยทุจริต โดยทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์ใดเกิดขึ้นจนทำให้จำเลยเชื่อได้ว่าองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางร่วมกับองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการทำคำสั่งขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดยมีเจตนาให้เป็นที่เสียหายแก่จำเลย หรือองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางเป็นผู้ทำคำสั่งและจัดให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำสั่งโดยมิได้เป็นการทำคำสั่งอันเกิดจากการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเองอันเป็นการกระทำโดยมิชอบ กรณีเช่นนี้ จึงเป็นการคาดเดาเอาเองตามความรู้สึกของจำเลยโดยมิได้อาศัยพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริงใด ๆ มาสนับสนุนถึงการร่วมกันกระทำดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ซึ่งการที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ย่อมเป็นการลดคุณค่าในการพิจารณาวินิจฉัยทำคำสั่งของผู้เสียหายทั้งห้าในฐานะองค์คณะศาลปกครองสูงสุดและมีความหมายไปในทางว่า ผู้เสียหายทั้งห้าในฐานะองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดมิได้มีการตรวจสอบคำสั่งศาลปกครองกลางว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากแต่ได้ร่วมมือกับองค์คณะตุลาการศาลปกครองดังกล่าวกระทำการโดยมิชอบและโดยทุจริตอันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา ดังจะเห็นได้จากข้อความที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่า "ซึ่งจากการเป็นเช่นที่กล่าว ก็จักเห็นได้ว่าการกระทำของตุลาการศาลปกครองกลางผู้ร่วมกระทำเป็นการกระทำโดยมิชอบและหรือโดยทุจริต อันเป็นการกระทำผิดในฐานอาญา ถึง 2 กรรม (2 กระทง) ต่างกรรมต่างวาระ กล่าวคือ การกระทำผิดทั้งในชั้นศาลปกครองกลางและในชั้นศาลปกครองสูงสุด" นั่นเอง นอกจากนี้ยังได้ความตามทางนำสืบของจำเลยว่าจำเลยไม่ได้ต้องการเงินค่าเสียหายตามหนังสือขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาอันแท้จริงที่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เสียหายทั้งห้าอันเป็นผลจากที่ผู้เสียหายทั้งห้าพิจารณาทำคำสั่งในชั้นศาลปกครองสูงสุดตามข้อเท็จจริงที่สุจริตชนพึงกระทำ แต่ได้ถือโอกาสเอาหนังสือดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายทั้งห้าโดยมิใช่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานอันชอบธรรมด้วยเหตุและผล ตามข้อเท็จจริงนั้น ๆ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ส่วนข้อความอื่นตามหนังสือขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวน แม้จะมีข้อความว่ามิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มีคำสั่งโดยไม่สุจริตก็ตาม ก็พอให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ว่าเป็นการกล่าวถึงกระบวนพิจารณาที่ล่าช้านั่นเอง ก็ยังไม่ถึงขนาดเป็นการลดคุณค่าในการพิจารณาวินิจฉัยทำคำสั่งของผู้เสียหายทั้งห้า แต่มีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ แต่ก็หาได้ลบล้างการกระทำในส่วนอื่นของจำเลยอันเป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนังสือขอให้ผู้เสียหายทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเพียงข้อความในลักษณะปรับทุกข์ ติชมปรารภ หรือขอความเห็นใจ เท่านั้น อันเป็นการไม่สมควรเพราะเป็นการขาดคารวะ แต่ยังไม่ถึงขั้นพอที่จะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทผู้เสียหายทั้งห้าซึ่งเป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนคำแก้ฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลย ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไข จึงไม่จำต้องวินิจฉัย อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงมูลเหตุก่อนที่จำเลยยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต่อศาลปกครองกลาง อันสืบเนื่องมาจากจำเลยได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อห้องชุดโครงการอาคารชุดบ้านจิตรณรงค์ 4 ของบริษัท ส. เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่จำเลยได้ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่จำเลยไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาข้อร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจนเวลาล่วงเลยร่วม 2 ปี เมื่อจำเลยมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้รับแจ้งว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกับพวกต่อศาลปกครองกลางเป็นเวลาล่วงเลยมาถึง 9 ปี เศษ กรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องบั่นทอนต่อความรู้สึกที่ดีของจำเลยอย่างยิ่งและทำให้จำเลยเข้าใจว่าตนไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภคที่กฎหมายรับรองคุ้มครองไว้ เมื่อการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดไม่เป็นไปตามที่จำเลยคาดหวังไว้ ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจไปได้ว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จนเป็นมูลเหตุให้จำเลยทำหนังสือขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และเกิดเหตุเป็นคดีนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดประกอบกับขณะนี้จำเลยอายุ 68 ปี ทั้งนิสัยและความประพฤติของจำเลยประกอบแล้วไม่ปรากฏว่านิสัยและความประพฤติทั่วไปของจำเลยมีข้อเสียหายร้ายแรงและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูจำเลยให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเคยรับราชการและเคยได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2536 มาก่อน นับว่าจำเลยมีคุณความดีมาแต่ก่อน กรณีมีเหตุอันควรปรานีเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง ภายหลังจำเลยกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 198 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่า ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 (เดิม) จำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)