โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเหม แก้วประดิษฐ์ ตั้งแต่โจทก์เกิดมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ จำเลยเป็นน้องของนางเหม นางเหมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๕ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนางเหมคือที่ดินโฉนดที่ ๑๑๘๔๗ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์ไปยื่นขอรับมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำเลยไปคัดค้าน ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านดังกล่าว และพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิรับมรดกของนางเหมในฐานะเป็นทายาท ไม่ให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเหม แก้วประดิษฐ์ และแม้จะฟังว่าเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะรับมรดกของนางเหม จำเลยเป็นทายาทนางเหมในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๘๔๗ คืนให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนางเหมโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกเกิด โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๘๔๗ นี้ นางเหมได้มอบให้แก่โจทก์ไว้นานแล้ว เพราะมีเจตนายกให้โจทก์ แต่ยังมิได้โอนแก้ไขทางทะเบียน จำเลยไม่มีสิทธิเรียกไป
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความรับกันในเรื่องทรัพย์มรดก และโจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓ และเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เจ้ามรดกก็มิได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จำเลยเป็นน้องของเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีทายาทอื่น โฉนดที่พิพาทอยู่ที่โจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีเป็นประเด็นหารือบท ไม่จำต้องสืบพยาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามกฎหมายเก่าบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดเลขที่ ๑๑๘๔๗ ให้จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า กฎหมายลักษณะมรดก บทที่ ๑๒ บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติ แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ. ๑๒๑ บัญญัติให้ญาติของผู้มรภาพตามที่กำหนดไว้เป็นชั้น ๆ ในพระราชบัญญัตินั้นได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น ตามกฎหมายเก่านับแต่ ร.ศ. ๑๒๑ เป็นต้นมา บุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ ๖ แล้ว แม้จะมีมาตรา ๑๕๘๖ บัญญัติว่า "บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ" และมาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติไว้ด้วยว่า "...................บุตรบุญธรรม ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้" ก็ตาม บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๘๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ด้วย เพราะพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๔ บัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึง...........(๒)................การรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแก่การนั้น ๆ " ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายอย่างไร เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับแล้ว ก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่า และมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๕ จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แล้ว
พิพากษายืน