โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 157 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพร้อมกับรถพ่วงคันเกิดเหตุด้วยความเร็วสูงเกินสมควร ในบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นทางโค้งมีการจราจรคับคั่ง ในขณะที่นายเอกพงศ์ หนูจันทร์ ผู้เสียหาย ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุอยู่ข้างหน้าในช่องเดินรถซ้ายมือ จำเลยขับเปลี่ยนช่องเดินรถเพื่อจะแซงไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงในระยะกระชั้นชิด และไม่เว้นระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้าพอสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยขับชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายเป็นผู้ขับทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นางสาวภัทราวรรณ อินทรสุวรรณ ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับเป็นรถขนาดใหญ่ ควบคุมได้ยาก จำเลยควรจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร่วมใช้เส้นทาง แต่พฤติการณ์ในการขับรถของจำเลยเป็นการขับรถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาอันทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งไม่มีคู่ความโต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยมิได้หลบหนีและได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ นอกจากนี้นายจ้างจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาผู้ตายจนเป็นที่พอใจ และได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่เหมาะสมแก่รูปคดี
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่นและอ้างบทมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 อันเป็นบทห้ามกระทำความผิดมาด้วย แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสาม ศาลก็ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาแก้ไขจึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่ระบุว่าลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวอย่างไร และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้นก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสามด้วย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8