โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 264, 265, 268
ระหว่างพิจารณา นางเยาวลักษณ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,630,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี แต่คดีส่วนแพ่งให้ฟ้องใหม่โดยไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะฟ้องจำเลยในคดีส่วนแพ่งใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 8 เดือน ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยและผู้เสียหายรับราชการครู จำเลยและผู้เสียหายเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ผู้เสียหายมอบคำขอกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้จำเลยนำไปยื่นต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้เงิน 2,000,000 บาท หักเงินค่าหุ้นเพิ่มและอื่น ๆ แล้ว คงเหลือเงินมอบให้ผู้เสียหาย 1,580,300 บาท วันที่ 27 กันยายน 2561 นายธนัทชาติสามีของนางมยุรีไปขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. โดยนายธนัทชาติลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหาย และลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบฉันทะในใบมอบฉันทะ ซึ่งอยู่ด้านหลังใบถอนเงินฝาก เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. มอบเงินสด 1,580,300 บาท ให้นายธนัทชาติ วันเดียวกันนายธนัทชาตินำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของนางมยุรี ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2561 จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกเรื่องร้องทุกข์ มีข้อความว่า จำเลยตกลงจะชำระเงิน 1,600,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย แต่จำเลยไม่ชำระ คดีในส่วนแพ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้อื่น ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม หรือไม่ เห็นว่า เหตุการณ์ภายหลังจำเลยยื่นคำขอกู้เงินของผู้เสียหายและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวทันญาพร เจ้าหน้าที่แผนกทะเบียนหุ้นและคอมพิวเตอร์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. พยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 จำเลยนำคำขอกู้เงินของผู้เสียหายไปให้นางสาวทันญาพรคำนวณยอดเงินกู้ ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2561 จำเลยไปพบนางสาวทันญาพรแจ้งว่าผู้เสียหายอยากได้เงินไปใช้ก่อน จำเลยขอให้นางสาวทันญาพรช่วยติดต่อขอกู้เงินจากนางมยุรี 800,000 บาท และมอบสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหาย ใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะรับเงินแทนที่มีลายมือชื่อเจ้าของบัญชีลงไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เสียหายให้นางสาวทันญาพรเก็บไว้ ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2561 นางมยุรีไปพบนางสาวทันญาพรขอดูเอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย วันเดียวกันนางมยุรีส่งภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์แสดงการโอนเงิน 800,000 บาท แก่จำเลยมาให้นางสาวทันญาพร ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2561 สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้เงิน นางสาวทันญาพรโทรศัพท์แจ้งให้นางมยุรีทราบ นางมยุรีแจ้งว่าจะให้นายธนัทชาติไปรับเงิน นางสาวทันญาพรกรอกข้อความในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะที่มีลายมือชื่อเจ้าของบัญชีลงไว้ก่อนแล้ว และมอบเอกสารดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่การเงินแจ้งว่าจะมีคนมารับเงิน วันเดียวกันนายธนัทชาติไปติดต่อขอรับเงินจำนวนดังกล่าว คำเบิกความของนางสาวทันญาพร สอดคล้องกับคำเบิกความของนางมยุรีและนายธนัทชาติ นางมยุรียังเบิกความว่า จำเลยแจ้งว่าผู้ขอกู้จะให้ดอกเบี้ย 80,000 บาท นางมยุรีโอนเงิน 800,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2561 ช่วงเช้าจำเลยโทรศัพท์แจ้งนางมยุรีว่าผู้เสียหายต้องการเงินอีก 30,000 บาท นางมยุรีจึงโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลย และวันเดียวกันช่วงบ่าย เมื่อนายธนัทชาติโอนเงิน 1,580,300 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางมยุรี นางมยุรีหักเงินที่โอนให้จำเลยทั้งหมดและดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน แล้วโอนเงินส่วนที่เหลือ 670,300 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย คำเบิกความของนางมยุรีเกี่ยวกับการโอนเงินไปยังจำเลยดังกล่าวสอดคล้องกับรายการเดินบัญชี กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า นางมยุรีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 จำนวน 800,000 บาท และวันที่ 27 กันยายน 2561 จำนวน 30,000 บาท กับจำนวน 670,300 บาท จริง เมื่อพิจารณาตัวเลขจำนวนเงิน 670,300 บาท ที่นางมยุรีโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ภายหลังนายธนัทชาติโอนเงินที่รับมา 1,580,300 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางมยุรี ประกอบกับคำเบิกความของนางมยุรีที่ว่า มีข้อตกลงให้ดอกเบี้ยแก่นางมยุรี 80,000 บาท และข้อเท็จจริงที่ว่าก่อนหน้านั้นนางมยุรีโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยไปแล้ว 830,000 บาท จะเห็นได้ว่า เงิน 670,300 บาท ที่นางมยุรีโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยดังกล่าว ตรงกับจำนวนเงินที่นายธนัทชาติรับมา 1,580,300 บาท หักด้วยเงินที่ขอกู้ 830,000 บาท และดอกเบี้ยตามจำนวนที่ตกลงกัน 80,000 บาท กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า มีการขอกู้ยืมเงินจากนางมยุรี 830,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะชดใช้เงินที่กู้ยืมคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วยเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้ยืม จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายขอให้จำเลยกู้ยืมเงินจากนางมยุรีให้ผู้เสียหาย แต่เมื่อนางมยุรีโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังจำเลย ไม่ปรากฏว่าจำเลยโอนหรือส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวต่อไปยังผู้เสียหาย จึงน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเพียงแต่ขอกู้ยืมเงินจากจำเลย 270,000 บาท ไม่ได้ขอให้จำเลยกู้ยืมเงินจากนางมยุรีให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยังเบิกความด้วยว่า ผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้กรอกข้อความและไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะกับไม่ได้มอบสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ให้จำเลย ซึ่งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะ เปรียบเทียบกับเอกสารอื่นที่ผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้ในช่วงเวลาใกล้เคียง รวมทั้งเอกสารอื่นในสำนวน ไม่ปรากฏว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับเมื่อผู้เสียหายลงลายมือชื่อในเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการขอกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ทั้งคำขอกู้เงินสามัญ และเอกสารประกอบการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ทุกฉบับ ผู้เสียหายเขียนชื่อและชื่อสกุลของผู้เสียหายกำกับไว้ด้วยทุกครั้ง แตกต่างกับลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะที่ไม่มีการเขียนชื่อและชื่อสกุลของผู้เสียหายกำกับไว้ด้วย ประการสำคัญก็คือการที่ผู้เสียหายปฏิเสธลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะดังกล่าวว่ามิใช่ลายมือชื่อของตน มิใช่เพื่อปฏิเสธความรับผิดในหนี้เงินกู้ที่มีต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. แต่เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้ขอถอนเงินฝากและไม่ได้มอบฉันทะให้ผู้อื่นไปรับเงินที่ขอถอนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. แทนตนเท่านั้น คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวจึงมีน้ำหนักอันควรรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังว่า ลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีที่ใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหาย ส่วนปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าวหรือไม่นั้น แม้โจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะดังกล่าว แต่จำเลยเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้ยืมมากที่สุด และหากไม่มีลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายในใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะ ย่อมไม่อาจนำเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้ออกมาจากบัญชีเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหายได้ ประกอบกับจำเลยเป็นผู้นำใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะที่มีลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายไปมอบให้นางสาวทันญาพร โดยผู้เสียหายไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ยินยอม แสดงว่าจำเลยต้องมีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารดังกล่าว และการที่จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้นางสาวทันญาพรเพื่อให้นำไปใช้ในการเบิกถอนเงินออกมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย ย่อมเป็นการใช้เอกสารดังกล่าวในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายด้วย อย่างไรก็ตามในขณะที่จำเลยนำใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะไปมอบให้นางสาวทันญาพร ในใบถอนเงินฝากมีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชี ยังมิได้กรอกจำนวนเงินที่ขอถอน ส่วนในใบมอบฉันทะด้านหลังใบถอนเงินฝากมีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชี ยังมิได้กรอกข้อความว่ามอบฉันทะให้ผู้ใดเป็นผู้รับเงินที่ขอถอน จึงเป็นเอกสารที่ข้อความยังไม่สมบูรณ์ มิใช่เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นในชั้นฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหาย หรือไม่ เห็นว่า แม้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายเองว่า สมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหายไม่ได้อยู่ที่ผู้เสียหาย แต่เก็บรักษาอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. และไม่ปรากฏว่ามีพยานโจทก์คนใดเบิกความยืนยันว่าจำเลยได้รับสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. แต่ตามคำเบิกความของนางสาวทันญาพรปรากฏว่า ในวันที่จำเลยมอบใบถอนเงินฝากและใบมอบฉันทะ และบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เสียหายให้นางสาวทันญาพรนั้น จำเลยมอบสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหายให้นางสาวทันญาพรด้วย ซึ่งมีเหตุให้เชื่อได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง เพราะเอกสารดังกล่าวล้วนเป็นเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการเบิกถอนเงินออกมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้นางสาวทันญาพรเพื่อให้นำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกถอนเงินฝากของผู้เสียหายจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้อนุญาต การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการเอาไปเสียซึ่งสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ของผู้เสียหาย ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการมุ่งคำนึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยมิได้ขวนขวายหาเงินมาชดใช้คืนเพื่อบรรเทาผลร้ายที่เกิดแก่ผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้สำนึกในการกระทำความผิดของตน จำเลยรับราชการเป็นครู สมควรประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์และบุคคลทั่วไป แต่กลับกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายซึ่งรับราชการเป็นครูเช่นเดียวกันโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4