โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 40,734,394.71 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่ชำระขาด 3,548,292 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 40,095,700 บาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อนำรถยนต์นั่งใหม่พร้อมอุปกรณ์ ยี่ห้อ Ferrari F430 Scuderia รุ่นปี 2007 (พ.ศ. 2550) หมายเลขตัวถัง ZFFKZ64C00016XXXX หมายเลขเครื่องยนต์ F136ED13XXXX ออกจากนิคมอุตสาหกรรม ล. ซึ่งเป็นเขตประกอบการเสรี พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแล้ว ต่อมาคณะทำงานประเมินราคาและค่าภาษีอากรรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ที่ออกโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หมายเลขตัวถัง และหมายเลขเครื่องยนต์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งมาให้โจทก์ที่ 1 ปรากฏว่าราคารถยนต์ที่จำเลยสำแดงต่ำกว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ที่บริษัทผู้ผลิตขายครั้งแรกจำนวนมาก คณะทำงานจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปชี้แจงพร้อมนำเอกสารต่าง ๆ ไปแสดง แต่จำเลยไม่ไปชี้แจง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ของผู้ผลิตเป็นราคาแท้จริงของรถยนต์คันดังกล่าวพร้อมทั้งคำนวณภาษีอากรขาดแต่ละประเภทและออกแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) โดยประเมินอากรขาเข้า 3,548,292 บาท เงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 เป็นเงิน 3,087,014 บาท ภาษีสรรพสามิต 8,870,730 บาท เบี้ยปรับภาษีสรรพสามิต 8,870,730 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต 8,870,730 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 887,073 บาท เบี้ยปรับภาษีเพื่อมหาดไทย 887,073 บาท เงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 887,073 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,241,903 บาท เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,241,902 บาท เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,241,903 บาท รวมเป็นเงิน 39,634,423 บาท จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินแล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม การประเมินเป็นอันยุติ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ความรับผิดชำระอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับและให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างความรับผิดชำระเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มแม้จะเกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 ยังคงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) เงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ยังไม่เกินกว่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่ากับอากรขาเข้าตามการประเมินเท่านั้น ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าเกินกว่าอากรขาเข้าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ