โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2533 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ จำนวน 5,500,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดชำระคืนเป็นรายเดือน รวม 120 เดือน ในอัตราเดือนละ 96,000บาท ทุกวันที่ 23 ของเดือน นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2534 เป็นต้นไปเดือนสุดท้ายภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2543 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้คืนก่อนกำหนด ในการนี้จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9556 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ต่อโจทก์ หลังจากทำสัญญากู้เงิน จำเลยไม่เคยชำระหนี้ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย ซึ่งจำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนและเมื่อหักทอนแล้วจำเลยยังคงค้างชำระหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 5,500,000 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 3,552,281.32 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,052,281.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 5,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์ ทั้งไม่เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองเป็นเอกสารปลอมและโจทก์เรียกดอกเบี้ยซ้ำซ้อนเกินอัตราตลอดจนไม่เคยบอกกล่าวทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 9,052,281.32 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 5,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9556 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองกับทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าไม่เกินร้อยละ 17.50 ต่อปี แต่ตามสัญญากู้เงินกลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ระบุว่าจำเลยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ ดังนั้น เมื่อขณะทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไว้ร้อยละ 19 ต่อปี การที่สัญญากู้เงินกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราดังกล่าวจึงเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและตามข้อตกลงของคู่สัญญาไม่ทำให้ข้อสัญญาในส่วนนี้เป็นโมฆะและสำหรับการคิดคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ตามที่เป็นจริงนั้น นายนพดล ตันเจริญ เจ้าหน้าที่สินเชื่อเบิกความว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์ ซึ่งมีอัตราขึ้นลงแม้นายนพดลจะไม่ทราบว่าระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด เพราะนายนพดล มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้คิดคำนวณดอกเบี้ย แต่ตามหลักฐานบัญชีภาระหนี้สินของจำเลยเอกสารหมาย จ.8 ปรากฏว่าระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2537 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2537 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2538 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2540 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของนายนพดลว่า การคิดดอกเบี้ยนั้น โจทก์คิดตามประกาศของโจทก์ซึ่งมีอัตราขึ้นลง มิได้คิดตามที่สัญญากู้เงินกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นคุณแก่จำเลย ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่าหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาทำการปรับอัตราดอกเบี้ยกับจำเลยอีกต่อไป การปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์หลังจากสัญญาสิ้นสุดลงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2537 ให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ดังนั้น ภายหลังจากเลิกสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมคือร้อยละ 15.5 ต่อปี ไปจนกว่าจำเลยชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อสัญญาซึ่งสิ้นสุดไปแล้วมาทำการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากจำเลยให้สูงขึ้นตามประกาศของโจทก์ได้อีกต่อไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ตามหลักฐานบัญชีภาระหนี้สินของจำเลยเอกสารหมาย จ.8 ปรากฏว่าหลังจากสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยจากหนี้สินคงค้างในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี จนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2538 มียอดหนี้7,050,582.69 บาท ดังนั้น จึงให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามยอดหนี้ในวันดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีจากต้นเงิน 5,500,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,050,582.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,500,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์