โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 364, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท บ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองพิษณุโลกด้านใต้ มีสำนักงานชั่วคราว ที่พักคนงานและที่เก็บวัสดุ โดยเช่าที่ดินจากเอกชน ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายเลี่ยงเมืองพิษณุโลก จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมางานเทคอนกรีตสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองพิษณุโลกกับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงงานเคลือบพาสเตอร์พื้นถนน และเป็นลูกน้องของจำเลยที่ 1 นายอภิชาตเป็นวิศวกรควบคุมโครงการก่อสร้างถนนของโจทก์ร่วม นายประสงค์เป็นผู้ช่วยวิศวกร มีหน้าที่ควบคุมการเบิกจ่ายวัสดุก่อสร้างของโจทก์ร่วม ในการเบิกเงินค่าก่อสร้างที่รับเหมา จำเลยที่ 1 จะทำเรื่องขอเบิกกับนายอภิชาตมาโดยตลอด วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้ามาในสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมเพื่อมาพบและตกลงกับนายอภิชาตเรื่องที่จำเลยที่ 1 ส่งผลงานการเทคอนกรีตถนนที่รับเหมางาน แต่ได้รับเงินค่างานไม่ครบถ้วนตามระยะทางถนนที่ทำไว้ แต่ตกลงกันไม่ได้จนเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างนั้นเกิดการชุลมุนใช้กำลังผลักดันทำร้ายกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายประสงค์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ล้มลงกับพื้นได้รับบาดเจ็บมีเลือดไหลบริเวณปาก จากนั้นจำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ และแจ้งให้ลูกน้องมารับไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงงานตามมาหลังจากที่เกิดเหตุโต้เถียงกันระหว่างจำเลยที่ 1 และนายประสงค์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดข้อหาร่วมกันบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เคยเป็นผู้รับจ้างเหมาช่วงในการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองพิษณุโลกจากโจทก์ร่วม สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมเพื่อทวงเงินค่างวดงาน เนื่องจากโจทก์ร่วมจ่ายให้จำเลยที่ 1 น้อยกว่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินไป การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องทำงานของนายอภิชาตเพื่อทวงเงินที่โจทก์ร่วมจ่ายให้น้อยกว่างานที่จำเลยที่ 1 ทำ โดยนายอภิชาตรับว่าได้พยายามอธิบายให้จำเลยที่ 1 ฟัง แสดงว่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ในเรื่องเงินค่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไป แม้จำเลยที่ 1 จะพูดจาต่อว่านายอภิชาตด้วยกริยาเกรี้ยวกราดเสียงดังก็เป็นเพียงการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องทำงานของนายอภิชาตเพื่อทวงเงินค่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วแต่ยังได้รับไม่ครบ จึงเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ส่วนการที่นายอภิชาตพูดไล่ให้จำเลยที่ 1 ออกไปแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออก ยังพูดต่อว่านายอภิชาตด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและเสียงดัง เป็นเหตุให้นายประสงค์เข้ามาเพื่อจะดึงตัวจำเลยที่ 1 ออกไปจนเกิดการผลักกันไปมาระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายประสงค์ทำให้จำเลยที่ 1 ล้มหน้าคว่ำลงไปที่พื้นจนได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ก็เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมโดยมีเหตุอันสมควร แต่เมื่อเกิดการโต้เถียงติดพันระหว่างกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่คู่กรณีจะต้องมีการตกลงพูดคุยกันให้จบกระแสความก่อน มิใช่ว่าจะต้องออกไปโดยทันที ทั้งปรากฏว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ที่ประตูหน้าห้องทำงานของนายอภิชาตก็ถูกนายประสงค์เข้ามาผลักดันทำให้จำเลยที่ 1 ล้มลง ซึ่งถ้าหากนายประสงค์ไม่เข้ามาผลักดัน จำเลยที่ 1 ก็อาจกำลังจะเดินออกจากห้องของนายอภิชาตก็เป็นได้ ประกอบกับหลังจากจำเลยที่ 1 ลุกขึ้นแล้วก็ออกไปรอนางสาวสุนทรีที่หน้าสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วม ไม่ได้เข้าไปหานายอภิชาตซึ่งนั่งอยู่ในห้องทำงานอีก ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ออกไปจากสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมก็เพราะต้องรอให้นางสาวสุนทรีหรือจำเลยที่ 2 มารับไปส่งโรงพยาบาล เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถขับรถไปโรงพยาบาลเองได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มาถึงสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วม หลังจากที่จำเลยที่ 1 กับนางสุนทรีกำลังจะไปโรงพยาบาลแล้ว ทั้งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถืออาวุธหรือกระทำการอันใดอันเป็นการบ่งชี้ว่าจะเข้าไปทำร้ายนายประสงค์เพราะหากจำเลยที่ 2 ต้องการที่จะเข้ามาทำร้ายนายประสงค์จริงแล้วก็คงต้องเตรียมอาวุธมาด้วยเพราะนายประสงค์ไม่ได้อยู่คนเดียว แต่ยังมีคนงานอื่นของโจทก์ร่วมอยู่ในบริเวณสำนักงานชั่วคราวด้วย และได้ความว่าหลังจากวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังทำงานให้โจทก์ร่วมอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ตามที่นายอภิชาตทำเรื่องขอเบิกเงินค่าแรงให้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่หลายจุด แต่โจทก์และโจทก์ร่วมกลับไม่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันการกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าเมื่อครบกำหนด 1 เดือน ผู้ดูแลจะลบข้อมูลทิ้งทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นกรณีเหตุการณ์ปกติ ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นแล้วผู้ดูแลลบข้อมูลทิ้งก็เป็นเรื่องการปฏิบัติตามปกติ แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่มีเหตุการณ์ทะเลาะกันจนเกิดการบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อกาย แต่ไม่มีการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ไว้ประกอบการดำเนินคดีจึงเป็นพิรุธ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ยอมออกจากสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออกแล้ว เป็นกรณีไม่มีเหตุอันสมควร หรือการที่จำเลยที่ 2 เข้าไปในที่ทำการสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมอันจะเป็นความผิดในข้อหาบุกรุก เนื่องจากเป็นการเข้าไปในสำนักงานชั่วคราวของโจทก์ร่วมโดยมีเหตุอันสมควรมาแต่ต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 แม้โจทก์ร่วมจะทำหนังสือมอบอำนาจให้นายระพินทร์ ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 กับพวกได้โดยมิได้ระบุข้อหาความผิดไว้ แต่การมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้รับมอบอำนาจก็ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับหรือเจตนาที่ผู้แทนนิติบุคคลให้ไว้ เมื่อปรากฏว่าตามรายการประชุมของโจทก์ร่วม ที่ประชุมมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในข้อหาบุกรุกเท่านั้น มิได้มีมติให้ดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย การที่นายระพินทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงเป็นการกระทำนอกเหนือจากเจตนาของโจทก์ร่วม การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ร่วม ถือว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน