โจทก์ฟ้องว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าวได้ออกประกาศให้ผู้มีข้าวเปลือกในครอบครองตั้งแต่ 5 เกวียนหลวงขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในวันที่กำหนดจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองข้าวเปลือกจ้าวรวม 10 เกวียนได้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอบางเขนว่า จำเลยมีข้าวเปลือกอยู่เพียง 5 เกวียน โดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ ชั้นแรกจำเลยปฏิเสธแล้วรับสารภาพ แต่แล้วกลับปฏิเสธอีกโจทก์นำสืบว่าได้ตรวจสอบข้าวมี 10 เกวียน จำเลยนำสืบว่า มี 8 เกวียน ของจำเลย 5 เกวียน อีก 3 เกวียนเป็นค่าเช่านาซึ่งจำเลยจะต้องให้แก่เจ้าของนา ๆ ฝากไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คืนข้าวของกลาง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามประกาศให้ผู้ที่มีข้าวอยู่ในครอบครองเป็นผู้แจ้งปริมาณ มิใช่ถือว่าข้าวเป็นของใครผู้นั้นเป็นผู้แจ้งและฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทำผิดเวลาใดก็จริง แต่ปรากฏว่าจำเลยไปแจ้งปริมาณที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเข้าใจว่าในเวลาราชการตามปกติต้องเป็นเวลากลางวัน จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาที่เกี่ยวกับเวลากระทำผิดได้ดี ไม่เคลือบคลุมพิพากษากลับให้ปรับ 100 บาท ข้าวเปลือกของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า เวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หมายความถึงวันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน คำฟ้องที่ไม่กล่าวถึงเวลากลางคืนหรือกลางวันนั้นจะเคลือบคลุมหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึง เวลาพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้กล่าวชัดแจ้งแล้วไม่มีเหตุอะไรที่จำเลยจะอ้างว่าไม่เข้าใจข้อหาเกี่ยวแก่เรื่องเวลาเลย และเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งปริมาณ ตลอดทั้งข้าวที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย
พิพากษายืน