โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ.๒๕๑๙ จากโจทก์รวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน ๕๓๖,๔๐๐ บาท โดยอ้างว่าโจทก์นำค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี จำนวน ๑,๖๑๙,๗๙๒ บาทมาลงบัญชีเป็นรายจ่าย โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบ โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการ ดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วซึ่งโจทก์ก็เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบจึงได้นำคดีมาฟ้อง ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์กับให้ลดหรืองดเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วย กฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ไปปรับปรุงคำนวณกำไรสุทธิให้โจทก์เสียภาษีนั้นเป็นการไม่ชอบให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ที่โจทก์จ่ายให้ทายาทของนายวัง เวงมี นั้น นางอรุณี โคมทอง พยานโจทก์เบิกความว่าการจ่ายเงินให้ทายาทของนายวัง เวงมี เนื่องจากการตายของนายวัง เวงมี นั้นเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ จำนวนเงินที่จ่ายนั้นคิดเป็นเงินร้อยละ ๖๐ ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานมา ปรากฏว่า นายวัง เวงมี มีเงินเดือนเดือนสุดท้ายในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโจทก์เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ทำงานให้โจทก์มา ๒๗ ปี เมื่อคิดออกมาแล้วเป็นจำนวนเงิน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินทำนองเดียวกันนี้ให้พนักงานรายอื่น ๆ ด้วย โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด นอกจากนี้ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ครั้งที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๘ หมาย จ.๑ ข้อ ๒ ว่า คณะกรรมการตกลงจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายสำหรับหัวหน้าฝ่ายซึ่งทำงานเกิน ๑๒ ปี และตามรายงานประชุมคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๓๕ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ หมาย จ.๑๑ ข้อ ๕ ระบุว่าพนักงานที่ทำงานกับโจทก์เกิน ๑๐ ปี จะได้รับเงินค่าตอบแทนเมื่อออกจากงาน สำหรับรายงานการประชุมของคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๓๒/๑ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙ หมาย จ.๑๒ ข้อ ๕ นั้น ระบุว่าโจทก์ตัดสินใจจ่ายเงินตอบแทนเนื่องจากออกจากงานจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ให้แก่ทายาทของนายวัง เวงมี จึงเห็นได้ว่าเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทของนายวัง เวงมี นั้น เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของนายวัง เวงมี ที่ปฏิบัติงานให้โจทก์เป็นเวลานานทั้งเพื่อเป็นการอุปการะเลี้ยงดูทายาทของนายวัง เวงมี ด้วยจึงมีลักษณะเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและมีเหตุอันควร การจ่ายเงินในลักษณะเช่นนี้หน่วยราชการต่าง ๆ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ และนิติบุคคลจำนวนมากก็ถือเป็นหลักปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ข้าราชการและพนักงานโดยทั่วไปในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการจ่ายเงินรายนี้ก็เป็นการจ่ายตามระเบียบ กฎเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้และตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการโจทก์ หาเป็นการให้โดยเสห่หา ตามความหมายของมาตรา ๖๕ ตรี(๓) แห่งประมวลรัษฎากรตามที่จำเลยกล่าวอ้างและนำสืบไม่แม้การจ่ายเงินดังกล่าวโจทก์จะลงบัญชีที่โจทก์เรียกว่า สตาฟ รีไทร์เมนท์ เบเนฟิต ก็หาทำให้รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ รายจ่ายของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ
ในเรื่องเงินค่าซ่อมแซมอาคารที่โจทก์จ่ายไป ๑,๐๐๔,๐๐๐ บาท และโจทก์ลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ.๒๕๑๙ นั้ นางอรุณี โคมทอง พยานโจทก์เบิกความว่า เหตุที่โจทก์ลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ ก็เพราะโจทก์สังเกตว่าอาคารเริ่มทรุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นกรณีที่โจทก์ทราบความเสียหายในปีดังกล่าว และในปี พ.ศ.๒๕๑๙ นั้นเอง โจทก์ตกลงให้บริษัท พี แอนด์พี ไทยแลนด์ จำกัด เป็นผู้รับซ่อมแซมอาคาร แต่ปรากฏตามสัญญาหรือข้อตกลงหมาย ล.๑ ว่า สัญญาซ่อมแซมอาคารที่โจทก์จ้างบริษัทดังกล่าวซ่อมแซมอาคารให้โจทก์นั้น ลงวันที่ ๑๖ พฤภาคม ๒๕๒๐ สัญญาดังกล่าวระบุวันเริ่มงาน วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๐ และวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๐ ตามสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าสิทธิดังกล่าวเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของบริษัท พี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๐ หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องจ่ายเงินให้บริษัทดังกล่าวก็ดีเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เช่นเดียวกัน โจทก์ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิจะต้องลงรายจ่ายดังกล่าวในรอบระยะบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ การที่โจทก์นำรายจ่ายค่าซ่อมแซมอาคารไปลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงไม่ชอบ และต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี (๙) ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินนำเงินดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นรายรับของโจทก์เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิให้โจทก์เสีย ภาษีนั้น ชอบแล้วการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน