คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีนายณัฐพงศ์ เป็นผู้ประกัน นำที่ดินโฉนดเลขที่ 242020 วางเป็นหลักประกันในวงเงิน 450,000 บาท ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งอายัดหลักประกันเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2539 ต่อมานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 3 หลบหนีไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ประกันของจำเลยที่ 3 ผิดสัญญา ให้ปรับตามสัญญาเป็นเงิน 450,000 บาท ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 และออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ประกันของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีงดดำเนินการ เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันถูกยึดไว้แล้วในคดีล้มละลายคดีหมายเลขแดงที่ ล.25/2540 ของศาลแพ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้ประกันของจำเลยที่ 3 นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง อ้างว่าจะนำเงินค่าที่ดินไปวางเป็นหลักประกันแทนโฉนดที่ดินต่อศาลชั้นต้น แล้วนำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ประกันผิดสัญญาจึงถูกผู้ร้องฟ้องบังคับให้โอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล โดยผู้ประกันของจำเลยที่ 3 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ร้องแทนการชำระหนี้ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 วันที่ 22 ตุลาคม 2547 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ในระหว่างเวลาประกาศเพื่อออกใบแทนโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ล.25/2540 ของศาลแพ่งยึดไว้แล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะผู้มีสิทธิจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว ศาลมีคำสั่งให้ถอนการยึดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 และคดีถึงที่สุด และต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินตรวจพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเคยถูกกรมสรรพากรยึดไว้ด้วยตามคำสั่งกรมสรรพากรลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 แต่ถอนการยึดแล้ว ตามหนังสือถอนการยึดของกรมสรรพากรลงวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และตามหนังสือแจ้งอายัดของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 กันยายน 2539 การบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดดังกล่าวสิ้นสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดให้เนื่องจากเป็นการยึดซ้ำ ผู้ร้องจึงติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อไป และมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นขอให้มีหนังสือถอนอายัด ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นรายงานต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการยึดและบังคับกับทรัพย์หลักประกันต่อไป ตามหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งอายัดหลักทรัพย์ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2558
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแจ้งถอนอายัดไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแจ้งถอนอายัดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่ผู้ประกันของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขายตามสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา และผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยที่ 3 จนศาลมีคำสั่งปรับตามสัญญาประกัน โดยผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้ก่อน ซึ่งมีความผูกพันทางแพ่งที่จะบังคับคดีกับที่ดินอันเป็นหลักประกันในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ การยื่นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง