ข้อเท็จจริงมีว่าโจทก์เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสกลนครซึ่งมีจำเลยเป็นนายกเทศมนตรี โดยปรกติโจทก์มีสิทธิได้รับค่าป่วยการจากเทศบาลเป็นรายเดือน ๆ ละ ๑๐๐ บาท โดยจำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีมีหน้าที่เบิกแล้วจ่ายให้ ต่อมาโจทก์ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแต่ไม่ถูกจำคุกเพราะศาลให้ประกัน แต่จำเลยถือว่าตามข้อบังคับการจ่ายเงินของมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๖ ถ้าสมาชิกเทศบาลถูกพิพากษาให้จำคุกก็ให้งดจ่ายค่าป่วยการ จึงไม่เบิกให้
โจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินค่าป่วยการนี้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับระหว่าง ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เป็นเงิน ๙๐ บาท เพราะโจทก์ถูกศาลตัดสินจำคุก แต่โจทก์ได้ประกัน การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีไม่จัดการเบิกให้ จึงทำให้โจทก์เสียหาย และต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ จึงฟ้องให้จำเลยชดใช้
จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยทำถูกตามกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๙ (ข) เพราะโจทก์ถูกจำคุกจึงไม่ต้องเบิกให้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ศาลชั้นต้นตัดสินว่าจำเลยทำถูกตามข้อบังคับ จึงพิพากษายกฟ้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ว่าข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๙๖ นั้นต้องหมายถึงจำคุกตามคำพิพากษาจริง ๆ เพียงแต่ถูกตัดสินจำคุกแล้วมีประกันตัวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หรือศาลรอการลงโทษก็ดี จะงดจ่ายค่าป่วยการไม่ได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาชั้นต้น ให้จำเลยจ่ายค่าป่วยการให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาว่าข้อบังคับข้อ ๙ พ.ศ.๒๔๙๖ ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าป่วยการของสมาชิกเทศบาลนี้ ต้องพิเคราะห์รวมกันทั้งหมด จะแยกความหมายและแยกตีความทีละตอนไม่ได้ และต้องเป็นเรื่องศาลพิพากษาให้จำคุกและจำเลยถูกจำคุกจริง ๆ จึงเห็นชอบตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลย.